สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ว่านางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีคนปัจจุบันและตัวแทนพรรคเดโมแครต และนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตผู้นำสหรัฐและแคนดิเดตของพรรครีพับลิกัน กำลังแข่งขันกันอย่างสูสีในสนามหาเสียง เพื่อหวังเป็นผู้คว้าชัยชนะ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ วันที่ 5 พ.ย. นี้


ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญของสหรัฐระบุว่า ประชาชนในทั้ง 50 รัฐของประเทศ และกรุงวอชิงตันซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษ มีสิทธิในการเลือกประธานาธิบดี ผ่านระบบที่เรียกว่า คณะผู้เลือกตั้งซึ่งแต่ละรัฐจะมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งมากน้อยแตกต่างกันไป ตามจำนวนประชากรของรัฐนั้น และรัฐส่วนใหญ่ใช้ระบบที่เรียกว่า “วินเนอร์ เทกส์ ออล” ( Winner Takes All ) นั่นคือ ผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนเสียงมากกว่า จะได้รับคะแนนคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมดของรัฐนั้นไปครอง


สำหรับการเข้าสู่เส้นชัยของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ คือการที่ผู้สมัครคนใดก็ตามสามารถรวบรวมคะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้งได้อย่างน้อย 270 เสียง จากทั้งหมด 538 เสียงก่อน

แม้รัฐส่วนใหญ่ในอเมริกามีความชัดเจน ว่าเป็นฐานเสียงของพรรคการเมืองใด จาก 1 ใน 2 พรรคใหญ่ แต่มีบางรัฐซึ่งไม่ได้สนับสนุนพรรคหนึ่งพรรคใดอย่างจริงจัง ซึ่งแน่นอนว่า กลุ่มรัฐเหล่านี้จะเป็นตัวตัดสิน ว่าใครคือผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐแทบทุกครั้ง จึงเห็นได้ชัดว่า ผู้สมัครจากทั้งสองพรรคใหญ่ต่างทุ่มเทหาเสียงที่รัฐกลุ่มนี้มากเป็นพิเศษ ซึ่งเรียกว่า สวิงสเตต หรือ แบตเทิลกราวด์ สเตต


ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งนี้ มี 7 รัฐที่อยู่ในกลุ่มสวิงสเตต ได้แก่

รัฐเพนซิลเวเนีย ( คณะผู้เลือกตั้ง 19 เสียง ) หนึ่งในพื้นที่อุตสาหกรรมสำคัญของสหรัฐ เคยเป็นฐานเสียงของพรรคเดโมแครตมาก่อน แต่เปลี่ยนไปทางพรรคีพับลิกันมากขึ้นในช่วงหลัง โดยทรัมป์ชนะที่นี่เมื่อปี 2563 และพ่ายแพ้อย่างเฉียดฉิวให้กับประธานาธิบดีโจ ไบเดน เมื่อปี 2563


รัฐจอร์เจีย ( คณะผู้เลือกตั้ง 16 เสียง ) เป็นฐานเสียงของพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งหลายสมัย ก่อนที่ไบเดนพลิกกลับมาคว้าชัยชนะที่รัฐแห่งนี้ได้ ในการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2535 ที่ตัวแทนพรรคเดโมแครตสามารถคว้าชัยชนะได้ที่รัฐจอร์เจีย


รัฐนอร์ทแคโรไลนา ( คณะผู้เลือกตั้ง 16 เสียง ) แม้รัฐที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐแห่งนี้ สนับสนุนตัวแทนของพรรคเดโมแครตอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2523 แต่มีการวิเคราะห์ว่า การให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลกลางชุดปัจจุบัน ที่มีต่อรัฐนอร์ทแคโรไลนา ซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนักจากอิทธิพลของเฮอริเคน “เฮเลน” ที่ยังล่าช้า อาจส่งผลต่อการตัดสินใจของประชาชนในพื้นที่


รัฐมิชิแกน ( คณะผู้เลือกตั้ง 15 เสียง ) ทรัมป์ชนะที่รัฐแห่งนี้ เมื่อปี 2559 และไบเดนเป็นฝ่ายชนะ เมื่อปี 2563 ขณะที่ประชาคมอาหรับในพื้นที่ซึ่งมีราว 200,000 คน อาจเป็นกลุ่มที่สามารถตัดสินผู้ชนะในรัฐแห่งนี้ได้ ท่ามกลางบรรยากาศความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ที่กลุ่มชาวอาหรับในสหรัฐไม่พอใจนโยบายที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลพรรคเดโมแครต


รัฐแอริโซนา ( คณะผู้เลือกตั้ง 11 เสียง ) ไบเดนเฉือนเอาชนะทรัมป์ที่รัฐแห่งนี้เมื่อปี 2563 ด้วยส่วนต่างเพียง 10,457 คะแนน และการที่รัฐแอริโซนามีพรมแดนติดกับเม็กซิโก ซึ่งยังคงมีปัญหายืดเยื้อกับสหรัฐ ในประเด็นผู้อพยพผิดกฎหมาย ที่หลายฝ่ายในพื้นที่มองว่า รัฐบาลของไบเดน “ยังทำได้ไม่ดีพอ” คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ประกอบการตัดสินใจของประชาชนในพื้นที่

รัฐวิสคอนซิน ( คณะผู้เลือกตั้ง 10 เสียง ) ทรัมป์ชนะที่รัฐแห่งนี้ เมื่อปี 2559 และไบเดนเป็นฝ่ายชนะ เมื่อปี 2563 ขณะที่ทรัมป์มีคะแนนนิยมดีที่รัฐแห่งนี้ แต่แฮร์ริสตามตีตื้นจนหายใจรดต้นคอแล้ว


รัฐเนวาดา ( คณะผู้เลือกตั้ง 6 เสียง ) ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันไม่เคยชนะการเลือกตั้งที่นี่ นับตั้งแต่ปี 2547 แต่ฝ่ายอนุรักษนิยมในพื้นที่เชื่อมั่นมากขึ้นว่า จะสามารถพลิกกลับมาชนะได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จากกระแสของทรัมป์ที่ยังคงดีกว่า แต่แฮร์ริสหวังว่าแผนการช่วยเหลือผู้ประกอบการในนครลาสเวกัส ที่เธอหาเสียงไว้ จะช่วยให้พรรคเดโมแครตยังคงรักษาสถิติที่รัฐแห่งนี้เอาไว้ได้.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES