“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์”  รายงานว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เตรียมเสนอรูปแบบการเดินรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง(ใต้) ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ(วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.63 กม. ต่อคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟม. เมื่อแต่งตั้งบอร์ด รฟม. ชุดใหม่แล้วเสร็จ รฟม. พร้อมเสนอทันที โดยคงยืนยันว่า การเดินรถต่อเนื่องเป็นเส้นทางเดียวกันรวม 46กม. ทั้งสายสีม่วงใต้ และสายสีม่วง (เหนือ) ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ระยะทาง 23กม. ที่เปิดบริการอยู่ในปัจจุบัน เป็นรูปแบบการเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่เหมาะสมที่สุด ตามผลการศึกษา และวิเคราะห์โครงการฯ ตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 (PPP)

การเดินรถต่อเนื่องตลอดทั้งสายจะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางเชื่อมต่อระบบทั้งสายสีม่วงเหนือ และม่วงใต้ เช่นเดียวกับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว ที่เปิดให้บริการในปัจจุบันผู้โดยสารสามารถเดินทางเชื่อมต่อทั้งส่วนหลักและส่วนต่อขยายได้อย่างสะดวก ไม่ต้องเปิดประมูลหาผู้เดินรถรายใหม่ โดยเจรจาบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM ผู้เดินรถสายสีม่วง(เหนือ)เตาปูน-คลองบางไผ่ ระยะทาง 23 กม.  เพื่อแก้ไขสัญญาสัมปทานฯ ให้เดินรถตลอดทั้งสาย

ก่อนหน้านี้แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ อยากให้เปิดประมูลหาผู้เดินรถรายใหม่ แต่ รฟม. พิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว พบว่า การเปิดประมูลจะทำให้ BEM ผู้เดินรถสายสีม่วง(เหนือ)รายปัจจุบันจะได้เปรียบกว่าผู้ร่วมประมูลรายอื่น และอาจจะมีปัญหาอื่นๆ ตามมา ขณะเดียวกันการติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าของผู้เดินรถรายใหม่ก็ต้องสอดคล้องกับการเดินรถของสายสีม่วง(เหนือ)ด้วย เพราะหากไม่เหมือนกันจะเกิดปัญหาในการเดินรถไฟฟ้าได้ หากกำหนดลงไปในร่างขอบเขตงาน(TOR) ก็อาจเกิดเรื่องการร้องเรียนว่าล็อกสเปคได้

หากผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากบอร์ด รฟม. จะเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาต่อไป ซึ่งตามแผนงานการติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า และการจัดหาขบวนรถ ควรเริ่มดำเนินงานให้ได้ภายในปี 68 หากล่าช้ากว่านี้งานอาจแล้วเสร็จไม่ทันกับแผนงานของ รฟม. ที่มีกำหนดเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ปลายปี 71 ขณะนี้ภาพรวมการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ รวม 6 สัญญา มีความคืบหน้า 40.38%  

ทั้งนี้รถไฟฟ้าสายสีม่วง(เหนือ) เปิดบริการตั้งแต่เดือน ส.ค.2559 มี BEM เป็นผู้รับจ้างเดินรถ และติดตั้งระบบรถไฟฟ้า ลงนามสัญญากับ รฟม. เมื่อปี 2556 สัมปทาน 30 ปี หมดอายุสัมปทานในปี 2586 โดยการเดินรถสีม่วง(เหนือ) เป็นแบบ PPP Gross Cost รัฐจ้างเอกชนบริหารจัดการเดินรถ และรัฐเก็บค่าโดยสาร สามารถดำเนินการตามนโยบายใดๆ ของรัฐบาลได้ทันที อาทิ รถไฟฟ้าไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย