เมื่อวันที่ 7 ต.ค. นายเอกณัฐ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม  นำทีมงานเข้าเยี่ยมชมกิจการของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) โดยมี   รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้การต้อนรับ ผอ.ศวฮ.ระบุว่ากลุ่มประเทศมุสลิมสนใจพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลของประเทศไทยมาโดยตลอด ตลอดสองเดือนที่ผ่านมา ผอ.ศวฮ.ได้รับเชิญให้นำเสนอแนวทางการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ฮาลาล เพื่อพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ฮาลาลเชิงอุตสาหกรรมแก่หลายประเทศมุสลิม ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย, กาตาร์, บาห์เรน, โอมาน, ยูเออี, คูเวต, จอร์แดน, อิรัก, คาซักสถาน และมาเลเซีย อีกทั้งยังมีงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาลเพื่ออนาคตร่วมกับทีมนักวิจัยจากหลายประเทศ

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ศวฮ.พัฒนางานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีฮาลาลเพื่อยกระดับอุตสาหกรรม ฮาลาลมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การจัดตั้ง ศวฮ.ตามมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2546   ศวฮ.พัฒนาระบบการมาตรฐานฮาลาล โดยประยุกต์ใช้นวัตกรรมในหลายขั้นตอนผ่านกระบวนการมาตรฐานฮาลาลที่ชื่อว่า HAL-Q มีการใช้นวัตกรรม, H numbers, น้ำยาดินชำระล้าง, งานทางนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล วางระบบในโรงงานอุตสาหกรรม 1,112 โรงงาน ครอบคลุมคนงาน 158,823 คน ตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ไปกว่า 188,731 ตัวอย่าง นำไปสู่พัฒนาการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การสร้างบิ๊กดาต้า การพัฒนาระบบ    “ฮาลาลบล็อกเชน” เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคในกระบวนการทวนสอบย้อนกลับ (Traceability)   ผ่านแอปพลิเคชันในรูป Thailand Diamond Halal Blockchain เป็นไปตามมติคณะรัฐมตรีวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2558 และ 10 กันยายน พ.ศ.2562 ตามการนำเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรมและสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

เพื่อให้อุตสาหกรรมฮาลาลประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ ศวฮ.พัฒนาแพลตฟอร์ม “THAIs” หรือ Thailand Halal Trustworthy A.I. เพื่อสร้างความไว้วางใจต่อผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย โดยประยุกต์ใช้เอไอสองแนวทาง โดย “เอไอที่หนึ่ง” คือ Actual Implementation ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานด้วยมือและสมองของมนุษย์ เป็นต้นว่า การวางระบบ    HAL-Q, งานห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล, การใช้นวัตกรรม, การตัดสินทางศาสนา (ฟัตวา)  “เอไอที่สอง” คือ Artificial Intelligence โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่  (Big Data) แพลตฟอร์ม THAIs จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคผู้บริโภคและภาคธุรกิจ เกิดความเชื่อมั่นต่อผลิตภัณฑ์ฮาลาลของประเทศไทย เป้าหมายเพื่อลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนการดำเนินงาน เพิ่มความสามารถด้านการแข่งขัน นี่คือภาพความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมฮาลาลประเทศไทยที่ก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างแท้จริงตามแนวทางที่ ศวฮ.นำเสนอต่อกระทรวงอุตสาหกรรม