ตำแหน่งนายกฯ มักจะโดนขาแซะในอินเทอร์เนตวิจารณ์ตลอดเวลา แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ผ่านมา ผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ก็เลือกปล่อยผ่าน แต่มาวันนี้“นายกฯอิ๊งค์” ขอชี้แจงบ้าง ..ทำนองว่า“อย่าด้อยค่ากัน” ในอินสตาแกรม ingshin21 ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ได้โพสต์ภาพเมื่อครั้งไปประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 3 (3rd Asia Cooperation Dialogue: ACD) ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ ระหว่างวันที่ 2-4 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นภาพการเข้าพบผู้นำแต่ละประเทศ โดยนายกฯ โพสต์ข้อความว่า “พบหารือทวิภาคีผู้นำ 4 ประเทศถือเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนไทยมากค่ะ”

ได้มีผู้ใช้บัญชี “kitsveyor”เข้ามาแสดงความเห็นว่า “อย่างน้อยศึกษาข้อมูลให้มีในสมองบ้างครับ ก้มหน้าอ่านจากไอแพดมันดูน่าขายขี้หน้าประเทศ ประยุทธ์ว่าแย่แล้ว คนนี้แย่พอกันหรือแย่กว่าด้วย”

น.ส.แพทองธารโพสต์ตอบว่า “ขอบคุณสำหรับคำแนะนำค่ะ รบกวนดูข่าว + หาข้อมูลเยอะๆ นะคะ เวลาประชุมแบบนี้ ทั่วโลกเค้าอ่านกันค่ะ มันเป็น commitment ( พันธกรณีหรือข้อตกลง ) เป็นสิ่งที่ต้องบันทึกค่า อ่านทุกคน ตั้งแต่ชีค ถึงนายกฯ เลยค่ะ ลองหาข้อมูลเพิ่มดูเนาะ ถ้าเป็น bilateral ( ทวิภาคี ) ส่วนใหญ่จะจดหัวข้อไป แล้วก็พูดคุยกันแบบไม่ต้องอ่านก็จะสร้าง connection ที่ดีค่ะ ดูแค่หัวข้อให้ครบถ้วน ไม่มีใครแย่กว่าใครหรอกค่ะ ทุกคนมีความสามารถกันคนละด้านค่ะ เปิดใจกว้างๆ ลองให้โอกาสตัวเอง ลดอคติลง จะมีความสุขขึ้นค่ะ” มีคนมารีพลายต่อในเชิงเชียร์นายกฯ จำนวนมาก

นอกจากนี้ น.ส.แพทองธาร ยังได้เขียนข้อความชี้แจ้งแจงเพิ่มเติมในไอจีสตอรี่อีกว่า ว่า “ชี้แจงนิดหน่อยละกันเนาะ คือตอนก่อนไปก็เตรียมตัวค่ะ ว่าต้องอ่านหรือต้องเป็นรูปแบบไหน คนอื่นเขาทำยังไงกันไม่ใช่ไปเฉยๆ ไม่ทำการบ้านค่ะ งานระดับประเทศจะไปแหวกแนวคนอื่นเขา ก็คงไม่ใช่” พร้อมรูปอิโมจิหน้ายิ้มอ้าปากและเหงื่อตก

มีผู้ใช้อินสตราแกรม ได้ชื่นชมนายกฯว่า “พี่อิ้งทุ่มเทสุดความสามารถในทุกๆงาน พี่ทำดีมากๆ แล้วขออย่าให้คนที่เป็นพลังลบให้แต่คนอื่นหรือสิ่งไม่ดีอะไรมาทำลายความตั้งใจนะคะ เป็นกำลังให้เสมอค่ะ” นายกฯได้ตอบกลับว่า “ขอบคุณค่า แค่อยากจะให้ข้อมูลอ่ะค่ะ ว่าได้นะ ยินดีรับฟัง แต่ว่าบนพื้นฐานของการไม่รู้จริง มันก็ต้องบอกกันนิดนึงแหละเนาะ”

นายนพดล ปัทมะ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ผู้วิจารณ์ต้องเข้าใจแนวปฏิบัติการประชุมระหว่างประเทศให้ถูกต้องว่า การที่ผู้นำอ่านสคริปต์เป็นเรื่องปกติทำกันทั้งโลกในการกล่าวถ้อยแถลงในเวทีประชุมระหว่างประเทศ เป็นเช่นนั้นมานานแล้ว เนื่องจากจะต้องไปกล่าวถ้อยแถลงแทนประเทศซึ่งจะมีกระทรวงการต่างประเทศและทำเนียบรัฐบาลช่วยเตรียม ที่เรียกว่าเป็นคำแถลงที่เตรียมไว้แล้ว(prepared speech) มันไม่ได้แสดงว่านายกฯอ่อนด้อยประสบประการณ์ ถ้าหากจะวิพากษ์วิจารณ์ ควรไปดูที่เนื้อหาสาระของถ้อยแถลงว่ามีประโยชน์ต่อประเทศไทยหรือไม่

อาจเป็นครั้งแรกที่นายกฯ ไทยตอบโต้ชาวเน็ตแบบเข้ามาตอบรีพลายเอง ซึ่งก็น่าสนใจไม่น้อย มุมหนึ่งก็แสดงว่า นายกฯอิ๊งค์อ่านความเห็นเอง ชี้แจงเอง แต่อีกมุมหนึ่งก็อาจอยากให้นิ่ง ระวังดราม่า

เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ได้จัดงานครบรอบ 48 ปี 6 ตุลา 2519 ประจำปี 2567 ช่วงเช้ามีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 19 รูป นายศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้กล่าวเปิดงานโดยระบุว่า แม้ผ่านไป48 ปีการเมืองไทยทุกวันนี้ ยังคงวนเวียน อยู่กับสิ่งที่เราอยากให้ก้าวข้ามไป อยากเห็นคนรุ่นใหม่กลับไปสนใจและพยายามที่จะค้นคว้า ทำความเข้าใจว่าได้เกิดอะไรขึ้นในเหตุการณ์ 6 ต.ค.19 และต้องอาศัยคนรุ่นใหม่หนุ่มสาวที่จะทำให้การปกครองเป็นประชาธิปไตย

นายชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงงานรำลึกครบรอบ 48 ปี 6 ตุลาฯ ว่า ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 มีนักศึกษาและประชาชนจำนวนมากที่ถูกดำเนินคดี รวมถึงความผิดตาม ป.อาญา ม.112 และในปี พ.ศ. 2521 ได้มีการออกกฎหมายในนิรโทษกรรม แสดงให้เห็นว่าในอดีตเคยมีการนิรโทษกรรมมาแล้ว จึงขอย้ำว่าในอดีตเคยมีการนิรโทษกรรมคดีตาม ม.112 มาแล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลก และไม่เกี่ยวอะไรกับความจงรักหรือไม่จงรักภักดี

“ขอให้สภานัดพิจารณารายงานของ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาการตรากฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อให้พรรคการเมืองต่างรีบพิจารณา ยื่นกฎหมายนิรโทษกรรมของแต่ละพรรคเพิ่มเติม ไม่ควรกังวลจนเกินไป ประชาชนจำนวนมากรอคอยการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองอยู่ กมธ.มีทางเลือกเกี่ยวกับนิรโทษในรูปแบบต่างๆ รวมถึง การนิรโทษกรรม ม.112 แบบมีเงื่อนไข” อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าว

นายชัยธวัช ยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาชน ( ปชน.) ถูกมองว่ากระแสตกว่า ต้องให้เวลา หลังจากพรรคก้าวไกลถูกยุบ เราสูญเสียบุคลากร ดังนั้นพรรค ปชน.ต้องใช้เวลาในการจัดระบบบุคลากร ระบบการทำงานกันอีกสักพัก เข้าใจว่าข้อวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลาย ข้อบกพร่องจากการทำงานที่ผ่านมา ผู้บริหารพรรค รวมถึง สส. และสมาชิกพรรคพูดคุยกันตลอดว่าจะมีการปรับปรุงอย่างไร

“เรื่องความนิยมของนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคคนใหม่ คงต้องให้เวลาเขา เป็นเรื่องปกติที่แกนนำพรรคคนใหม่ขึ้นมาก็ต้องใช้เวลาในการทำให้สังคมรู้จัก และได้สัมผัสถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ รวมถึงวิสัยทัศน์ที่จะทำให้ประชาชนฝากความหวังได้หรือไม่ นายณัฐพงษ์ ต้องใช้เวลาพิสูจน์”นายชัยธวัช กล่าว

อีกประเด็นหนึ่งที่กำลังสร้างกระแสกัน คือ นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน ออกมาระบุว่า นโยบายให้ต่างชาติเช่าที่ 99 ปี เป็นนโยบายขายชาติ นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง กล่าวว่า “นายจตุพรก็พูดไปเรื่อย มันไม่มีใครขายชาติหรอก มันมีแต่เรื่องใครทำผิด กับทำถูก ถ้าทำผิดก็บอกมาว่าทำผิดเรื่องอะไร รัฐบาลทำตามความต้องการประชาชนส่วนมาก มันทำให้คน 67 ล้านคน ได้ดั่งใจคงไม่ได้

ไม่ใช่มาต่อว่า ว่าขายชาติอย่างนี้ มันเป็นคำพูดที่เป็นวาทะกรรมที่ไม่ได้สร้างสรรค์อะไร ที่นายจตุพร ออกมาระบุว่า นโยบายการเช่าที่ดิน 99 ปี มันเลยชั่วอายุคน อาจถูกมองว่าเป็นการขายชาติ มันเป็นแนวคิด ยังไม่ได้เริ่ม วิธีการอะไรที่จะหารายได้เข้าสู่ประเทศรัฐบาลก็พยายามจะทำ ไม่มีเรื่องที่จะขายชาติขายแผ่นดิน รัฐบาลไหนก็ไม่ทำ”

วันเดียวกัน มีการเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ( อบจ.) อุทัยธานี ระนอง และยโสธร ในส่วน จ.อุทัยธานีนั้น คาดว่าผู้ได้รับตำแหน่ง คือ นายเผด็จ นุ้ยปรี อดีตนายก อบจ.อุทัยธานี 4 สมัย ซึ่งลงสมัครเพียงคนเดียว และ จ.ยโสธร คนที่น่าสนใจคือ หมายเลข 1 นายวิเชียร สมวงศ์ อดีตนายก อบจ.ยโสธร ที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่งแล้วมาลงสมัครใหม่ ซึ่งเป็นน้องชายนายบุญแก้ว สมวงศ์ ส.ส. ยโสธร เขต 2

ส่วนการเลือกนายก อบจ.ระนอง นั้น แข่งกันระหว่างหมายเลข 1 นายธนกร บริสุทธิญาณี อดีตนายก อบจ.ระนอง จากทีมรวมพลังระนอง หมายเลข 2 นายสีหราช สรรพกุล มีทีมงานของ นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ส.ส.ระนอง พรรคภูมิใจไทยให้การสนับสนุน และหมายเลข 3 น.ส.คุณัญญา สองสมุทร ผู้สมัครอิสระ แต่หาเสียงในนามทีมระนองก้าวไกล

ที่ จ.สุรินทร์ นายพรชัย มุ่งเจริญพร นายก อบจ.สุรินทร์ ได้ลาออกทำให้มีผลการเลือกตั้งภายใน 45 วัน กกต. กำหนดเปิดวันรับสมัคร 14-18 ต.ค. 67 เลือกตั้ง 23 พ.ย. 67 ซึ่งคอการเมืองใน จ.สุรินทร์ มองว่า การลาออกกำหนดให้ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน อาจเป็นกลยุทธ์ทางการเมือง เช่น ให้คู่แข่งรายสำคัญมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน อย่างชื่อในทะเบียนบ้านไม่ถึง 1 ปี ลงสมัครไม่ทัน และการเลือกตั้งเฉพาะตำแหน่งฝ่ายบริหาร ทำให้คนเดิมที่มีเครือข่ายสมาชิกสภารับรองอยู่ก่อนสามารถยึดกุมฐานเสียงในพื้นที่ต่างๆ ได้ง่ายกว่าเดิม

และยังมีเสียงวิจารณ์ว่า การเลือกตั้งต้องอาศัยงบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั้นๆ ต้องปรับเกลี่ยงบประมาณจากส่วนอื่นนำมาใช้ เนื่องจากไม่ได้ตั้งงบเอาไว้ล่วงหน้า หากผู้บริหารลาออกก่อนครบวาระ และมีกระแสข่าวว่า นางธัญพร มุ่งเจริญพร ประธานสภา อบจ.สุรินทร์ จะลาออกมาลงรับสมัครนายก อบจ.สุรินทร์ ในครั้งนี้ด้วย

การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ก็เป็นตัวชี้วัดถึงฐานเสียงความนิยมของระดับชาติได้ เพราะบางจังหวัดก็มีตัวแทนของพรรคการเมืองมาสมัคร ที่จับตากันมาก คือ จากนี้ พรรค ปชน. จะเจาะฐานเสียงท้องถิ่นได้หรือไม่ จะส่งผู้สมัครลงท้องถิ่นจังหวัดไหนอีก.