“ฐาปน สิริวัฒนภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ ให้ความเห็นว่า  ถ้ามองภาพใหญ่ที่รัฐบาลต้องออกกฎเกณฑ์กติกาในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ครอบคลุมและเป็นประโยชน์ต่อสังคมในภาพรวมนั้น ภาครัฐก็ต้องฟังเสียงผู้ประกอบการธุรกิจ และฟังภาครัฐด้วยกันเอง จะทำให้เกิดความสมดุลที่ดี เพราะผู้ประกอบการเอกชนมีโอกาสรู้เรื่องราวต่างๆ มากมาย และรู้ว่ากรอบกฎเกณฑ์กติกาที่กำหนดขึ้นมา สามารถปฏิบัติได้จริง มีความเหมาะสม หรือสมเหตุสมผลมากน้อยแค่ไหน เปรียบได้กับองค์กรที่จะต้องฟังเสียงพนักงานด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการทุกคนก็ต้องคุยกันให้มากขึ้น เพราะไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ทุกคนมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืน ซัพพลายเออร์ หรือเวนเดอร์บางรายที่ให้ความสนใจและพร้อมในการพัฒนาด้านความยั่งยืน อาจจะมีความได้เปรียบมากกว่ารายอื่นๆ ที่กำลังมองดูเรื่องนี้

“เราก็มองไปถึงปี 2030 (ปี 2573) ซึ่งทุกองค์กรที่กำลังขับเคลื่อนความยั่งยืนจะมีการดำเนินงานในมิติที่คล้ายกันมากๆ แต่สิ่งสำคัญคือ เรายังจะต้องเดินไปพร้อมกัน  และอาจจะสามารถนำพาไปถึงการคิดและสร้างสรรค์ร่วมกัน Co-creation ทำไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เกิดพลังร่วม  ซึ่งเราอยู่ในโลกธุรกิจที่บ่อยครั้งเป็นผู้สร้างปัญหา ฉะนั้น ถ้าเราไม่มีความสมดุล พอประมาณ เราก็จะกลายเป็นคนที่ทำอะไรสุดโต่ง จะใช้ก็ใช้สุดโต่ง อยากได้ราคาที่ดีที่สุด คุ้มค่าที่สุด ผู้บริโภคก็บริโภคอย่างไม่หยุดยั้ง แบบที่เรียกว่า Consumerism”

ทั้งนี้การจัดงาน Sustainability Expo 2024 ที่จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 ก็เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันมากขึ้น ภายใต้แนวคิด Sufficiency for Sustainability มุ่งเน้นให้องค์กรร่วมมือกันเดินตามรอยพระปฐมบรมราชโองการ ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10 ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อประโยชน์สุขของคนไทยทุกคน โดยหนึ่งในนั้นก็คือ เรื่องหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ 3 ห่วง ความพอประมาณ มีเหตุผล และมีความคุ้มกันที่ดี และ 2 เงื่อนไข คุณธรรม และความรู้ เพื่อสื่อถึงทุกคนว่า เราจะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลที่ดี

เร่งสปีดให้ถึงเป้า

ศุภชัย เจียรวนนท์”  ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า เป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในระดับโลก โดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้ตั้งเป้าหมายความยั่งยืน (SDGs) 17 ข้อ จะต้องบรรลุให้ได้ภายในปี 2030 ขณะที่ปี 2022 ทำได้แค่ 12% และปัจจุบันอยู่ที่ 17% ช้ากว่ากำหนดและเหลือเวลาแค่ 6 ปีเท่านั้น ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญ สำหรับการผลักดันทุกภาคส่วนให้ร่วมมือ เพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนให้สำเร็จ

ทั้งนี้สิ่งสำคัญ เราต้องสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาสังคม  โดยเฉพาะภาครัฐต้องมีการออกนโยบาย และกฎระเบียบข้อบังคับมาส่งเสริมการลดคาร์บอน ผลักดันเรื่องพลังงานสะอาดดึงนักลงทุน รวมไปถึงการลงทุนด้านพลังงานนิวเคลียร์ นำมาเป็นพลังงานทางเลือกที่หลายประเทศนำไปปรับใช้ลดคาร์บอน ทั้งนี้ยังเป็นเรื่องที่จะต้องมาทำการศึกษาถึงภาพรวมและผลกระทบด้วย ในขณะเดียวต้องมีการส่งเสริมสร้างแรงจูงใจในการลดคาร์บอน เพราะในตอนนี้โลกกำลังเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้ว โดยผลการศึกษาจากหลายที่คาดการณ์ว่าหากยังเกิดความผันผวนดังกล่าวมากยิ่งขึ้นจะทำให้อุณหภูมิโลกพุ่งเกิน 2 องศาเซลเซียสได้ และจะยิ่งส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และความเป็นอยู่ของผู้คนมากขึ้น ยกตัวอย่างกรณีน้ำท่วมที่อ.แม่สาย จ.เชียงราย จากที่ไปลงพื้นที่ พบว่าผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมและดินสไลด์ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำรงชีวิตและกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในพื้นที่  ดังนั้นจึงควรต้องสร้างความร่วมมือเพื่อวางแนวทางเชิงป้องกัน

“ เครือซีพี ในฐานะเอกชนที่ดำเนินธุรกิจในหลายประเทศได้ประกาศ และเร่งเดินหน้าเป้าหมายยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนสู่ปี 2030 รวมทั้งสิ้น 15 เป้าหมาย สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเป้าหมาย 17 SDGs  มีเป้าหมายสำคัญที่ต้องทำให้สำเร็จภายในปีดังกล่าวรวม 3 เป้าหมายหลัก คือ

1. นำองค์กรสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (สโคป 1และ2) ในปี 2030 เพื่อมุ่งสู่เน็ต ซีโร่  ในปี 2050

2. ของเสียที่ถูกนำไปฝังกลบต้องเป็นศูนย์

3. สนับสนุนผู้คน 50 ล้านคนให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต”

ทั้งนี้การจะไปถึงเป้าหมายความยั่งยืนที่ตั้งไว้เป็นเรื่องที่ยากและท้าทายอย่างมาก ต้องเร่งสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการลดคาร์บอนใน Scope 3 ภาคเอกชนไม่สามารถทำเองได้ แต่ต้องสร้างความร่วมมือตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อนำประเทศไทยสู่ Net Zero สร้างความยั่งยืนในทุกมิติร่วมกัน

ไทยสอบตกศก.หมุนเวียน

“ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี มองว่า  ไทยเป็นประเทศแรกที่ประกาศในเวทีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  (COP) ว่า อุตสาหกรรมซีเมนต์จะเข้าสู่เน็ต ซีโร่  แต่ยังสอบไม่ผ่านในเรื่องเศรษฐกิจ หมุนเวียน (Circular Economy)  เพราะยังแพ้ยุโรป ที่สามารถสร้างบิสสิเนส โมเดล  โลว์คาร์บอนได้ โดยรีไซเคิลพลาสติกมีอัตราการเติบโตต่อปีสูงกว่าพลาสติกธรรมดาทั่วไป 2-3 เท่า ซึ่งในการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเทศไทยต้องทำ 2 เรื่องไปพร้อมๆ กัน คือ การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเอสซีจีได้เสนอให้ภาครัฐจัดทำแผนแม่บทรีไซเคิล เพื่อผลักดันให้มีการดำเนินธุรกิจรีไซเคิลอย่างจริงจัง ซึ่งจะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้

“ประเทศไทยมีศักยภาพในเรื่องรีไซเคิล แต่เรายังขาดแผนแม่บทที่จะกำหนดทิศทางและกำกับดูแล รวมถึงการขาดจิตสำนักในระดับบุคคลในเรื่อง Circular Economy เช่น เรื่องง่ายๆ อย่างการแยกขยะเปียกขยะแห้ง เพื่อให้ได้ของที่มีคุณภาพนำมารีไซเคิลได้จะมีค่าใช้ในการดำเนินการมหาศาล ดังนั้น การดำเนินโครงการอะไรจะต้องคำนึงถึงเรื่องความสามารถในการแข่งขัน อีกประเด็นที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการคือ การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด โดยเอสซีจีเสนอให้ปลดล็อกกฎหมายและข้อกำหนดเพื่อให้สามารถซื้อขาย ไฟฟ้าพลังงานสะอาดด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงง่ายขึ้น มีการกำหนดให้มีระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพสายส่งโดยรวมทั่วประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น และจะทำให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ” 

ตั้งเป้าท้าทายพลิกโฉมทะเล

“ธีรพงศ์ จันศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ระบุว่า ความยั่งยืนเป็นเรื่องของการอยู่รอด เรามีจุดยืนองค์กร  คือ Healthy Living, Healthy Oceans ผ่านการส่งมอบโภชนาการที่ดีให้กับผู้คน ควบคู่ไปกับการดูแลท้องทะเล   พร้อมกับต่อกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน Seachange 2030 ผ่าน 11 พันธกิจ ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการผลิต การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำประมงที่ต้องถูกกฎหมาย การดูแลแรงงาน การจัดซื้อจัดจ้างที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยเปลี่ยนโฉมให้กับอุตสาหกรรมอาหารทะเล และอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน

“ วันนี้ไทยยูเนี่ยนมองว่า ความยั่งยืน คือ หัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจและ SeaChange เปรียบเสมือนใบอนุญาตที่จะทำให้เราดำเนินธุรกิจได้ในโลกปัจจุบัน เราเชื่อว่าการดูแลทรัพยากรของเราด้วยความรับผิดชอบเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อเป็นแหล่งอาหารและอาชีพให้กับประชากรโลกในรุ่นต่อไป ด้วยวิสัยทัศน์ของบริษัทในการที่จะก้าวไปเป็นบริษัทอาหารทะเลที่ผู้คนทั่วโลกเชื่อถือมากที่สุด SeaChange 2030 จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้เราบรรลุวิสัยทัศน์นี้  สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ ความเปลี่ยนแปลงที่เราช่วยกันผลักดัน จะเกิดประโยชน์ไม่เพียงแต่กับบริษัทเท่านั้น แต่คือความยั่งยืนเพื่อพวกเราทุกคน”