โรค “ข้อเข่าเสื่อม” ไม่ได้เกิดแค่กับผู้สูงวัย แต่คนที่อายุน้อยก็สามารถเป็นได้ โดยเป็นโรคที่เกิดจากหลากหลายปัจจัย อาทิ อาหาร น้ำหนักตัว การทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งส่งผลให้กระดูกอ่อนผิวข้อเข่า กระดูกข้อต่อ และกระดูกบริเวณใกล้ข้อ เกิดการสึกหรอและเสื่อมลง จึงควรปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน อาทิ การควบคุมน้ำหนัก การปรับการรับประทานอาหาร ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับสารอาหารที่เหมาะสม ช่วยเสริมสร้างข้อกระดูกและกล้ามเนื้อให้แข็งแรง รวมถึงช่วยลดปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว และลดโอกาสเกิดการอักเสบ

สำหรับอาหารที่ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมควรรับประทาน

1.อาหารมีกรดไขมันโอเมกา-3 สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารทะเล เช่น ปลาทะเล ปลาแซลมอน ปลาน้ำจืดประเภทปลาเนื้อขาว ช่วยบำรุงข้อต่อกระดูกให้แข็งแรง ลดอาการปวดหรืออักเสบในผู้ป่วยที่มีข้อเข่าอักเสบ และลดอาการติดแข็งบริเวณข้อต่างๆ

2.อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ หรือเบต้าแคโรทีนสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักต่างๆ อาทิ ใบยอ ยอดแค ผักโขม ผักคะน้า บรอกโคลี ผักกระเฉด ถั่วงอก อีกทั้งยังควรกินผักให้หลากสี เช่น มะเขือเทศสีแดง แครอทสีส้ม กะหล่ำปลีสีม่วง ข้าวโพดฟักทองสีเหลือง เพราะจะได้วิตามินที่หลากหลาย และผักใบเขียวต่างๆ มีวิตามินเคที่ช่วยบำรุงกระดูกค่อนข้างสูง

3.อาหารที่มีแคลเซียมสูง อาทิ อัลมอนด์อบ งาดำ นม ผลิตภัณฑ์จากนม ปลาตัวเล็กตัวน้อย ถั่วเหลือง ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น น้ำเต้าหู้ เต้าหู้หลอด ทั้งนี้ควรกินอาหารที่มีวิตามินดีสูง จำพวก นม ไข่ ปลาซาดีน ควบคู่กันด้วย เพราะวิตามินดีช่วยเรื่องการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น

4.อาหารที่อุดมด้วยวิตามินซี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้ต่างๆ เช่น ฝรั่ง ส้ม สับปะรด มะละกอสุก เพราะวิตามินซีช่วยต้านการเกิดอนุมูลอิสระด้วย

5.อาหารที่มีสารกลุ่มไบโอฟลาโวนอยด์ เช่น เชอร์รี่ บลูเบอร์รี่ แอปเปิ้ล ชาเขียว หัวหอม มะเขือเทศ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมวิตามินซี สร้างความแข็งแรงให้กับเนื้อเยื่อ ทำให้ผนังหลอดเลือดและเส้นเลือดฝอยแข็งแรง ลดโอกาสเกิดการฟกช้ำ บวม

นอกจากนี้ ควรรับประทานอาหารประเภทอบ ต้ม ตุ๋น นึ่ง ย่าง แทนประเภทผัด ทอด หรือแกงกะทิ เพื่อควบคุมน้ำหนักตัว

8 อาหารที่ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมควรหลีกเลี่ยง

1.อาหารเสริมและวิตามินสำเร็จรูป หากต้องการกิน ควรปรึกษาแพทย์ก่อน แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าผู้ป่วยขาดวิตามินชนิดใดหรือไม่ และจะกำหนดให้กินในปริมาณที่เหมาะสม

2.อาหารเค็มหรืออาหารที่มีโซเดียมสูง หลีกเลี่ยงการปรุงอาหารด้วยเกลือ ซีอิ้ว น้ำปลา ซอสปรุงรส และการกินอาหารเค็ม อาหารแปรรูป หมัก ดอง รวมถึงขนมถุง เพราะโซเดียมส่งผลให้เซลล์เก็บน้ำไว้มากเกินไปจนร่างกายบวมน้ำ

3.อาหารหวานหรืออาหารที่มีน้ำตาลมาก เพราะอาจกระทบต่อการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้แผลหรือกล้ามเนื้อบริเวณหัวเข่าเกิดอักเสบได้ง่ายขึ้น

4.แป้งขัดขาว อาทิ ขนมปังข้าว พาสต้า ซีเรียล ธัญพืชขัดขาว อาจกระตุ้นการอักเสบของข้อต่อกระดูก

5.อาหารทอด หรืออาหารที่มีไขมันอิ่มตัวมาก ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม และอาจเพิ่มการอักเสบได้

6.เนื้อสัตว์ที่ปรุงด้วยอุณหภูมิสูงนานๆ นอกจากเสียคุณค่าทางอาหารแล้ว จะทำให้เกิดสาร AGEs (Advanced Glycation End Products) ที่อาจทำให้ข้อต่อต่างๆเกิดการอักเสบ

7.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจกระตุ้นอาการต่างๆให้รุนแรงขึ้น และอาจทำปฏิกิริยากับยาที่กินอยู่ ส่งผลให้ยาออกฤทธิ์ไม่ได้ผลเท่าที่ควร และเกิดส่งผลกระทบอื่นๆ ตามมา

8.กาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะคาเฟอีนทําให้ร่างกายขับแคลเซียมออกมาทางปัสสาวะ หากได้รับในปริมาณมากๆ เป็นประจำ อาจทำให้มวลกระดูกบางลงด้วย