ทั้งนี้ เมืองไทยมีข้าราชการฝ่ายต่าง ๆ มากมาย ในช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่มีข้าราชการสูงวัยต้องเกษียณจากการทำงานจำนวนไม่น้อย และก็มีคำแนะนำประมาณว่า…เกษียณอย่างไรจึงจะมีความสุข? จึงจะไม่เหงา? เผยแพร่ออกมามาก ซึ่งรับเทศกาลเกษียณ…วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็พลิกแฟ้มสะท้อนต่อข้อมูลเรื่อง “เหงา”มาให้พิจารณากันอีก…

เหงา” ความรู้สึกนี้ “วัยไหนก็เกิดได้”

วัยเกษียณ” ใช่เลยว่า “ก็มักจะเหงา”

แต่ “ถึงขั้นเป็นแชมป์วัยขี้เหงามั้ย??”

ทั้งนี้ เรื่อง “เหงา” ที่พลิกแฟ้มสะท้อนต่อข้อมูลให้พิจารณากัน ณ ที่นี้ในวันนี้ ขอเริ่มที่ข้อมูล “วิธีป้องกันและรับมือกับความเหงา” ที่มีการแนะนำไว้โดย คงพล แวววรวิทย์ นักจิตวิทยา ศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้แนะนำวิธีไว้ดังนี้คือ… 1.ทบทวนความรู้สึกตนเอง ทำความเข้าใจที่มาที่ไปความรู้สึกที่เกิดขึ้น, 2.ทบทวนความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง มองหาความสัมพันธ์ที่ตนเองต้องการหรือความสัมพันธ์ที่มีคุณค่า, 3.พัฒนาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพของตน, 4.เปิดโอกาสให้ตนเองได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ใหม่ ๆ รวมถึง 5.หากิจกรรมหรืองานอดิเรกทำเพิ่ม และก็อาจไปถึงขั้น6.พูดคุยปรึกษากับนักจิตวิทยา เพื่อรับมือกับความเหงาให้ได้

วิธีป้องกันและรับมือความเหงาดังกล่าวนี้….ก็ย่อมเป็นประโยชน์ต่อคน “วัยเกษียณ” อย่างไรก็ตาม นักจิตวิทยาท่านดังกล่าวได้มีการให้ข้อมูลแก่ประชาชนเพื่อให้เข้าใจความรู้สึก “เหงา” ไว้ผ่านบทความ “ความเหงากำลังระบาด” โดยระบุไว้ว่า… ในทางจิตวิทยาแบ่งความเหงาไว้เป็น 3 ประเภท คือ… ความเหงาแบบชั่วคราวความเหงาในชีวิตประจำวันที่เกิดชั่วครั้งชั่วคราว เป็นความเหงาที่พบบ่อยที่สุด แต่ก็อาจไม่ได้รุนแรงนัก, ความเหงาจากสถานการณ์มักเกิดขึ้นหลังเผชิญเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อชีวิต เช่น สูญเสียคนที่รัก หย่าร้าง, ความเหงาแบบเรื้อรังมักเกิดเมื่อรู้สึกไม่พึงพอใจในความสัมพันธ์ของตนกับผู้อื่นเป็นเวลานานติดต่อกัน และไม่สามารถจะพัฒนาความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นได้ ซึ่งมักเกิดกับคนที่มีปัญหาการปรับตัว

เหงา” เหล่านี้ “ยังไม่เกษียณก็เกิดได้”

ขณะที่ทางนักจิตวิทยาศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ยังได้ชี้ถึง “สาเหตุความเหงา” ไว้ว่า… มีปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ ได้แก่… เพราะ สถานการณ์ทางสังคมหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนั้น เช่น ความเครียดจากการว่างงาน การสูญเสียคนรัก ความไม่พอใจในการสมรส เป็นต้น หรือเพราะ ลักษณะบุคลิกภาพที่แตกต่าง หรือเพราะค่านิยมและบรรทัดฐานทางสังคมวัฒนธรรมที่แตกต่าง …ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวนี้ก็บ่งชี้…ไม่ใช่วัยเกษียณก็อาจเหงา

ที่ “น่ากังวล” หากใครไม่สามารถป้องกันและรับมือกับความเหงาได้ ก็คือ… มีรายงานโดย องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ได้ระบุไว้ว่า… จากการวิเคราะห์บทบาทการเชื่อมโยงทางสังคมในการปรับปรุงสุขภาพสำหรับ คนทุกวัย ซึ่งดำเนินการเป็นเวลา 3 ปี พบว่า… ทั่วโลกพบอัตราการ “โดดเดี่ยวทางสังคม” สูงขึ้น โดยที่ “ความเหงา” ที่ผู้คนเผชิญอยู่กำลัง “ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ” รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งสำหรับคนที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางสังคมที่แน่นแฟ้นเพียงพอนั้น ไม่เพียงแต่จะต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยว หากแต่ความเหงายัง “ทำให้เสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพ” ซึ่งกับปัญหาสุขภาพก็ไม่เพียง โรคซึมเศร้า ที่อาจนำสู่การคิดสั้น แต่ยังรวมถึง สมองเสื่อม, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคหลอดเลือดหัวใจ ด้วย

ย้ำว่านี่เป็นการวิเคราะห์ “คนทุกวัย”

และกับเรื่อง “เหงา”นี่ก็ยังมีข้อมูลโดย รศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา นักวิชาการ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ให้ความรู้ไว้ผ่านบทความ “มาทำความรู้จักกับความเหงาผลพวงโรคระบาดที่ไม่ควรมองข้าม” ที่เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์เดอะประชากรอันสืบเนื่องจากกรณีโควิด-19 ระบาด ซึ่งถึงวันนี้ก็ยังเป็นข้อมูลที่น่าสนใจมาก รวมถึงประเด็น “บ่อเกิดความเหงา” ดังที่ได้สะท้อนไว้ตั้งแต่ตอนต้น โดยนักวิชาการท่านนี้ยังระบุถึง “ระดับความเหงา” ไว้ว่า… จำแนกได้หลายระดับ มีตั้งแต่ ระดับเล็กน้อย หรือขยับเป็น ระดับปานกลาง หรือถึง ระดับรุนแรง ซึ่งกรณี “เหงาระดับรุนแรง” ก็มักจะ รู้สึกเหงาบ่อยครั้ง หรือ รู้สึกเหงาเกือบตลอดเวลา หรือ รู้สึกโดดเดี่ยว รวมถึง ชอบมองโลกในแง่ลบ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องไปนาน ๆอาจ เสี่ยงต่อการพัฒนาเป็นโรคเครียด โรควิตกกังวลรวมถึงเสี่ยงเป็น โรคซึมเศร้า

ทั้งนี้ ที่น่าสนใจอีกประเด็นก็คือ… นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ท่านดังกล่าว ได้ระบุไว้ว่า… กับบางคน แม้อยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย แต่ก็อาจจะเกิดความรู้สึกเหงาขึ้นมาได้ และถ้าจะโฟกัสกันที่ประเด็น “ช่วงวัยที่มีโอกาสมากที่สุดที่จะเหงา” ล่ะก็….ประเด็นนี้นักวิชาการท่านเดิมท่านนี้ระบุไว้ว่าได้แก่… กลุ่มเยาวชนกลุ่มวัยรุ่น” เนื่องจาก เป็นกลุ่มที่มีความคาดหวังต่อความสัมพันธ์สูงเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มคนที่มีอายุมาก ดังนั้น ก็จึงทำให้ กลุ่มเยาวชน วัยรุ่น มีโอกาสรู้สึกไม่เติมเต็มด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้มากกว่ากลุ่มคนที่มีอายุมาก นั่นเอง

วัยเกษียณ” ก็ “ต้องดูแลอย่าให้เหงา”

แต่ “แชมป์ขี้เหงาอาจมิใช่วัยเกษียณ”

แชมป์นั้น…“อาจจะเป็นวัยรุ่นก็ได้!!”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์