ทีมข่าวอาชญากรรม มีโอกาสสอบถาม ...วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม สะท้อนภาพความสัมพันธ์ว่าปัจจุบันภาพจำระหว่างตำรวจกับประชาชนเหมือนศัตรู ประชาชนเริ่มเบื่อหน่ายปัญหาตำรวจ ทั้งการป้องกันอาชญากรรมที่ไม่มีประสิทธิภาพ ปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำความผิดหลากรูปแบบ

ทุกครั้งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาตินำสถิติคดีมาแถลงให้เห็นว่ามีคดีจำนวนไม่มาก ส่วนหนึ่งมาจากการไม่รับทำคดี ทั้งที่ข้อเท็จจริงประชาชนล้วนประสานเสียงว่า ยังคงเดือดร้อน ไม่ได้รับความเป็นธรรม คดีไม่คืบหน้า โดยเฉพาะคดีประเภทร่วมกันฉ้อโกงประชาชนที่สถิติคดียังสูง ยืนยันหน้าที่ระงับยับยั้ง ป้องกันอาชญากรรมทุกประเภทไม่ว่าคดีเล็กหรือใหญ่ เป็นหัวใจสำคัญของการเป็นตำรวจ

แต่เมื่อไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างที่ควรจะเป็น ประชาชนก็มองหาบุคคล หรือองค์กรอื่นที่อุทิศความช่วยเหลือได้มากกว่า จนมีการเกิดขึ้นของสายไหมต้องรอด” “กัน จอมพลังหรือบรรดาทนายความ ที่พาให้เป็นข่าว หรือทำให้เกิดภาวะกดดันการทำหน้าที่ขององค์กรนั้นๆได้

ลักษณะเช่นนี้ของกระบวนการยุติธรรมไทยถือเป็นความวิปริต ความวิบัติ เป็นการสะท้อนว่ากลไกไม่สามารถพึ่งพาได้ สังเกตได้จากประชาชนไม่ได้คำนึงถึงตำรวจเป็นสิ่งแรก ไม่เดินเข้าหาผู้กำกับการ ผู้บังคับการ หรือผู้บัญชาการ เพราะคิดว่าเข้าถึงยาก หรือไปพบแล้วเรื่องก็ยังเงียบ คดีไม่คืบหน้า

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตการเกิดขึ้นเชื่อมโยงกับการผลักผลงานให้ตำรวจ หรือฝ่ายการเมืองหรือไม่ พ.ต.อ.วิรุตม์ ชี้ว่ามีความเป็นไปได้ที่สังคมบางกลุ่มจะมองเช่นนั้น แต่บางครั้งอาจเพิ่งมาหนุนภายหลัง จากนี้จะมีการเกิดขึ้นอีกมากไม่ว่าจะทนายความ อินฟลูเอนเซอร์ ฯลฯ ซึ่งมีสิ่งที่ผู้เสียหายต้องระมัดระวังคือ ข้อมูลส่วนบุคคล หรือข้อมูลสำคัญทางคดี

ต้องฉุกใจคิดเสมอว่ามันเป็นเหมือนดาบสองคม บางคนเจตนาดี เจตนาช่วยเหลือก็พาเราให้ได้รับความเป็นธรรม แต่บางคนเจตนาแสวงหาผลประโยชน์ก็จะนำข้อมูลสำคัญไปรีดไถหรือแฝงตัวเป็นหน้าเสื่อรับเคลียร์

พ.ต.อ.วิรุตม์ ยังเผยสิ่งที่ประชาชนต้องเผชิญหลังแจ้งความคือ คดีไม่คืบหน้า ต้องติดตามเอง และมักได้ยินคำพูดที่ว่าตำรวจไม่ได้ทำคดีผู้ร้องเพียงคดีเดียว ตำรวจมีคดีอีกมาก แม้เป็นเรื่องจริง แต่ก็ไม่ควรเกิดขึ้นกับการอำนวยความยุติธรรม ตนย้ำเสมอว่านี่คือความล้มเหลว และยังไม่มีผู้มีอำนาจคนใดเล็งเห็นปัญหา พร้อมเสนอนายกรัฐมนตรีควรประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ด้วยตัวเองทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อเท็จจริง และมีข้อสั่งการบรรเทาความทุกข์ร้อน เช่น

ปัญหาตำรวจไม่รับแจ้งความ ผลลัพธ์ภายหลังสั่งการ ผลชี้วัดการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมแต่ละประเภท และใครต้องรับผิดชอบหากผลลัพธ์ไม่สัมฤทธิ์ ไม่ควรทำให้วงประชุม ก.ตร. มีแต่วาระการแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวด้วยว่า คดีที่ประชาชนวางใจให้ตำรวจทำน้อยที่สุดหากไม่ใช่คดีฝากฝังให้ทำ มักเป็นคดีคนจนถูกคนมีเงินรังแก หรือลูกน้องถูกนายจ้างโกงเงิน เพราะคดีที่คนจนไปแจ้งความคนรวย มักล่าช้า สาเหตุมาจากผลประโยชน์ ซึ่งอาจมาในรูปแบบเงินรางวัล เป็นต้น

นอกจากนี้ มองปัญหาการสอบสวนปัจจุบันอาจเกี่ยวข้องกับระบบ เมื่อพนักงานสอบสวนที่เรียนจบกฎหมาย อยากปฏิบัติตามขั้นตอนหรือสอบสวนตามกระบวนการ แต่ผู้บังคับบัญชากลับไม่ให้ดำเนินการการ เกรงสถิติคดีของสำนักงานจะมากเกินไป ทำให้พนักงานสอบสวนที่ดีอยู่ไม่ได้ กลัวมีปัญหา และเสี่ยงถูกร้องเรียนเพราะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

อย่างไรก็ตาม แนะประชาชนงัดไม้เเข็งสู้หากถูกบ่ายเบี่ยงทำคดี โดยให้ร้องไปที่ ป.ป.ช. ระบุชื่อโรงพัก พร้อมพฤติการณ์ว่าปฏิเสธรับคำร้อง หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างไรบ้าง เพราะทุกครั้งที่แจ้งความผู้ร้องต้องได้เอกสารสำเนาบันทึกประจำวัน หลักฐานการรับคำร้องพร้อมเลขคดีอาญา เพื่อจะได้รู้ขั้นตอนถัดไปในการทำสำนวนที่จะมีกรอบเวลาทำงานและสรุปสำนวนส่งอัยการให้มีการสั่งคดี

หากไม่มีเลขคดีอาญา เรื่องจะวนอยู่ในมือตำรวจ สุดท้ายหากเจ้าของเรื่องโอนย้ายคดีก็จะเงียบหายไม่มีบันทึกเชื่อมโยงในท้องที่”

พ.ต.อ.วิรุตม์ สรุปบทบาทการพาผู้เสียหายมาร้องทุกข์ต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ได้ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาถึง“ราก” ซึ่งเป็นต้นตอแท้จริง แม้เรื่องราวจะมีความเคลื่อนไหว ได้รับการนำเสนอสู่สาธารณะ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงเปิดพื้นที่รับฟัง แต่ปลายทางไม่มีใครรู้ ไม่มีใครตามต่อว่าปัญหาถูกแก้ไข ผู้ร้องได้รับความเป็นธรรมอย่างไร เพราะสุดท้ายก็จะมีเคสอื่นๆเข้ามาต่อคิว

ไม่ว่าจะในลักษณะคล้ายเดิม หรือเป็นประเด็นใหม่ๆ พวกเขาเหล่านี้ก็ต้องขยับไปรับทำเรื่องใหม่เรื่อยๆ คำถามคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ทำไมประชาชนเลือกที่จะเดินเข้าหาคนเหล่านี้มากกว่าเดินเข้าหาตำรวจในสถานีใกล้บ้าน”

ถือเป็นโจทย์ชวนคิดที่ พ.ต.อ.วิรุตม์ ทิ้งท้ายขอมองด้วยความเป็นธรรมและแนะนำว่า จงอย่าปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมต้องสิ้นสภาพผุพังมากกว่านี้ ขอให้ตำรวจได้กลับมาเป็นปราการด่านแรก เป็นที่พึ่งเรื่องทุกข์ร้อนของประชาชนดังเดิม.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน