...วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เผยผ่าน“ทีมข่าวอาชญากรรม” ถึงวิวัฒนาการธุรกิจซื้อขายสินค้าว่า ก่อนการเข้ามาของอินเตอร์เนตเป็นการโฆษณาแบบ“ปากต่อปาก” หรือผ่านโทรทัศน์ แต่เมื่อมีอินเตอร์เนต มีเว็บไซต์จึงผันมาอยู่ทางออนไลน์ การโฆษณาซื้อขายสินค้าจึงเกิดการเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่ปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดคือ ประชาชนสนใจ“ผลลัพธ์”มากกว่า“วิธีการ” หมายถึงเวลาที่มีการโฆษณาจะเน้นเอาผลสำเร็จมาเป็นตัวตั้ง

ยกตัวอย่าง กรณีโชว์ทรัพย์สินหรือความสำเร็จรูปแบบต่าง ๆ ของผู้ขาย ทำให้คนรับชมคิดต่อว่า คนเหล่านี้ทำธุรกิจอะไรถึงรวย อย่างไรก็ตาม แม้จะมองว่าเป็นเทคนิคโฆษณารูปแบบใหม่ แต่มิจฉาชีพก็ใช้วิธีนี้เพื่อโฆษณากิจกรรมที่ผิดกฎหมายเช่นเดียวกัน

พ.ต.ต.วรณัน ยอมรับการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นที่นิยม โดยเฉพาะการโชว์ไลฟ์สไตส์ส่วนตัวทำคอนเทนต์ ซึ่งหากมองเชิงบวกถือเป็นรูปแบบการประชาสัมพันธ์ที่คนยุคนี้มักสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงไม่นาน แต่สิ่งที่อยากรู้คือผลลัพธ์

ดังนั้น มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือการนำ“จุดเด่น”หรือ“ผลสำเร็จ”มาบอกเล่าว่า รวย มีเงินมีทอง มีรถ จากนั้นคนจะเริ่มถามที่มาความรวย จึงเป็นโอกาสให้บอกเล่าว่ากำลังประกอบธุรกิจใดอยู่และเชิญชวนกันในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม รูปแบบเช่นนี้มีทั้งผิดและถูก ที่ถูกต้องคือเป็นการประชาสัมพันธ์รูปแบบใหม่ที่ให้เจ้าของมาทำการตลาดด้วยตัวเองซึ่งเป็นเรื่องดีเพราะถือต้องใส่ใจสินค้าและบริการของตัวเอง แต่อีกมุมก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือหลอกลวงได้

พ.ต.ต.วรณัน ยังเตือนความเสี่ยงของการนำคนดัง คนมีชื่อเสียงมาไลฟ์สินค้าราคาแพง แต่ขายถูกกว่าท้องตลาดว่า ผู้บริโภคต้องคิดถึงหลักความเป็นจริง เมื่อปกติการซื้อขายสินค้าต้องทำกำไร หากขายแล้วไม่ได้กำไรก็ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม สิ่งแรกที่ต้องฉุกคิดคือไม่มีของถูกและดีในโลก เพราะคุณภาพกับราคาต้องแปรผันกัน

โดยเฉพาะ“ทองคำ”ถือเป็นสินค้าที่มีมาตรการกำหนดราคา หากขายต่ำกว่าขอให้สงสัยเลยว่าแล้วคนขายจะได้กำไรจากอะไร

ถ้าเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานราคาอย่างทองคำจะมีข้อมูลสาธารณะว่าน้ำหนักเท่านี้ต้องมีราคาซื้อขายกี่บาท หากผู้ซื้อเห็นว่าผู้ขายระบุถึงน้ำหนักทองคำและระบุมูลค่า เมื่อไปเทียบกับราคาจริงแล้วมีความไปได้หรือไม่ เพราะราคาควรใกล้เคียง หรือสูงกว่า เหตุเพราะการนำทองคำไปเป็นรูปวัตถุต่างๆ มีค่าใช้จ่ายในการทำร หรืออาจเป็นค่ากำเหน็จ ราคาควรสูงไม่ใช่ต่ำลง”

พ.ต.ต.วรณัน สะท้อนเพิ่มเติมถึงการลงทุนในสินค้าหรือบริการยุคปัจจุบันว่า หากมีผู้มาชักชวน โดยเสนอผลตอบแทนอัตราสูง ขอให้คิดในมุมกลับ หากคนนั้นสามารถสร้างผลตอบแทนได้มากมายตริง เหตุใดจึงต้องมาระดมทุนกับรายย่อยแทนการนำเสนอโครงการต่อสถาบันการเงินเพื่อขอสินเชื่อ

พร้อมชี้ว่าส่วนใหญ่ผู้ที่ชักชวนให้ลงทุนมักใช้ข้ออ้าง“ต้องการกระจายรายได้ให้กับคนที่ด้อยโอกาส” หรือ“ต้องการให้คนอื่นรวยเหมือนตน” ทั้งที่ความเป็นจริงการทำธุรกิจแทบไม่มีโอกาสเช่นนั้น เพราะบุคคลไม่ใช่มูลนิธิที่จะช่วยเหลือสังคม ขอให้มองตรรกะด้วยความเป็นจริงก่อนตัดสินใจ

นอกจากนี้ มองสถานการณ์คดีฉ้อโกงที่เกิดขึ้นจากการซื้อขายทางออนไลน์ว่า ด้วยรูปแบบการทำธุรกิจไม่ว่าแชร์ลูกโซ่หรือจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ไม่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้นรวดเร็ว และมักมีความเสียหายเป็นวงกว้าง

ขณะที่รูปแบบการหลอกถือความสำคัญ เพราะแผนธุรกิจที่นำเสนอก็คล้ายธุรกิจทั่วไปในสังคม เพียงแต่ไม่ใช่เป็นการทำอย่างตรงไปตรงมา

รูปแบบการหลอกไม่ว่าจะโชว์ความมั่งคั่งร่ำรวยผ่านเงินสด หรือทรัพย์สิน ก็เพื่อนำไปพูดถึงตัวผลิตภัณฑ์และพูดถึงค่าตอบแทนที่สูง นำไปประกอบกับความร่ำรวยที่ตัวเองนำเสนอ เมื่อทั้งสองอย่างประกอบกัน และคนส่วนใหญ่อาจไม่ได้ยับยั้งชั่งใจสุดท้ายก็ตกเป็นเหยื่อ” พ.ต.ต.วรณัน ทิ้งท้าย.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]