ในระหว่างการประชุมนานาชาติในเวนิสเรื่อง “มาร์โค โปโล หนังสือและเอเชีย: มุมมองการวิจัยในอีก 20 ปีต่อมา” ช่วงกลางเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ทีมนักธรณีวิทยา นักโบราณคดี นักเคมี และนักประวัติศาสตร์ศิลป์ชาวอิตาลีได้นำเสนอการค้นพบครั้งใหม่อันน่าทึ่งในรายงานผลการศึกษาฉบับล่าสุดเกี่ยวกับรูปปั้นสิงโตติดปีกที่โด่งดัง

สิงโตติดปีกนี้เป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองเวนิสและสัญลักษณ์ของเซนต์มาร์ค นักบุญผู้อุปถัมภ์เมืองเวนิส มีความหมายสื่อถึงอำนาจและความกล้าหาญ รูปปั้นนี้ติดตั้งอยู่บนเสาสูงบริเวณจัตุรัสเซนต์มาร์ค เมืองเวนิส

รายงานดังกล่าวระบุถึงการวิเคราะห์รังสีไอโซโทปของตะกั่วในรูปปั้นสิงโตติดปีกทำจากสำริดขนาด 13 ฟุต (ราว 4 เมตร) บนเสาสูงแห่งเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่บ่งบอกว่า เนื้อวัสดุดั้งเดิมส่วนใหญ่ของรูปปั้นที่กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองมาช้านานนี้ มีต้นกำเนิดมาจากภาคใต้ของจีน 

เดิมทีนั้น เหมืองทองแดงที่อยู่ตามแนวลุ่มแม่น้ำแยงซีคือแหล่งจัดหาทองแดงในจีนมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของยุคสำริด ซึ่งเป็นช่วงเวลาประมาณ 2,000 ปีก่อนคริสตกาล ผลจากการศึกษาพบว่า ไอโซโทปของตะกั่วจากประติมากรรมเลื่องชื่อแห่งเวนิสชิ้นนี้มีความเชื่อมโยงกับวัสดุสำริดที่ได้จากเหมืองทองแดงดังกล่าวในช่วงค.ศ. 8 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนหน้าที่ มาร์โค โปโล นักเดินทางชื่อดังชาวเมืองเวนิสจะออกสำรวจโลกและเส้นทางสายไหมในเอเชีย

ข้อมูลใหม่ของรูปปั้นนี้จึงเป็นเครื่องบ่งชี้อย่างหนึ่งว่ามีการติดต่อระหว่างจีนและยุโรปมานานแล้ว ก่อนที่มาร์โค โปโล จะออกเดินทางหลายร้อยปี

รูปปั้นสิงโตติดปีกแห่งเวนิสถูกนำลงมาจากเสาเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1991 เพื่อบูรณะซ่อมแซมและเพื่อศึกษาเพิ่มเติมทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของวัสดุที่ใช้ผลิต

นอกจากนี้ มัสซิโม วิดาเล หัวหน้าทีมวิจัยในครั้งนี้ยังแสดงความเห็นว่า เขาเชื่อมาตลอดว่ารูปปั้นสิงโตตัวนี้เป็นผลงานที่ผสมผสานสไตล์จีนเข้าไปด้วย และผลลัพธ์จากการศึกษาครั้งนี้ก็ชี้ว่าเขาคิดถูกเรื่องความเกี่ยวโยงกับแผ่นดินจีนซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ในยุคราชวงศ์ถัง

เมื่อยึดข้อมูลการวิเคราะห์ทางเคมีเป็นข้ออ้างอิงก็พบว่าวัสดุที่ใช้ทำรูปปั้นสิงโตติดปีกแห่งเวนิสตรงกับวัสดุที่ใช้ทำรูปปั้น “เจิ้นมู่โช่ว” ผู้พิทักษ์สุสานตามคตินิยมในยุคราชวงศ์ถัง

นอกจากนี้หน้าตาของสิงโตติดปีกตัวนี้ รวมถึงลักษณะขนที่ปั้นออกมา ยังดูเป็นผลงานสไตล์จีนอย่างเห็นได้ชัด ทีมวิจัยยังพบว่าส่วนหัวของรูปปั้นเจาะรูไว้หลายรู ชิ้นส่วนใบหูก็มีการขัดเกลาเพิ่มเติม คาดว่าเพื่อให้ดูเหมือนสิงโตมากขึ้น

เชื่อกันว่ารูปปั้นนี้ถูกขนส่งมาทางเรือในลักษณะแยกชิ้นส่วนแล้วนำมาประกอบกันในภายหลัง น้ำหนักรวมทั้งหมดของรูปปั้นนี้คือ 6,613 ปอนด์หรือประมาณ 3,000 กก. 

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคำถามที่ยังหาคำตอบแน่ชัดไม่ได้ เช่น คำถามว่ารูปปั้นนี้ได้มาจากการซื้อขายหรือยึดครอง รวมถึงใช้เส้นทางใดในการขนส่งรูปปั้นขนาดใหญ่ที่หนักถึง 3 ตัน โดยมีผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าเป็นการขนส่งผ่านเส้นทางสายไหมในยุคเริ่มแรกจากจีนสู่ภูมิภาคแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

ที่มา : hyperallergic.com, artnet.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES