สุขภาพของคุณแม่หลังคลอด เป็นช่วงเวลาสำคัญที่คุณแม่มือใหม่จะต้องดูแลตัวเองให้ร่างกายและสภาพจิตใจค่อยๆ กลับคืนสู่ภาวะปกติ รวมถึงส่งผลดีต่อการให้นมลูกอีกด้วย ขณะที่การดูแลคุณแม่หลังคลอดมีหลากหลายวิธี ซึ่งมีการนำความรู้มาประยุกต์ในการดูแลสุขภาพ และยังมีข้อห้ามต่างๆ ตามความเชื่อทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป แต่มีความเชื่อบางเรื่องอาจไม่ตรงกับองค์ความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบัน

“โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์” บอกเล่าสาระน่ารู้พร้อมกับคำเตือนเกี่ยวกับความเชื่อบางเรื่องที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณแม่หลังคลอด โดย นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ช่วงหลังคลอดจะเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับคุณแม่หลังคลอด ซึ่งหนึ่งในสาเหตุหลักๆ คือ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนในร่างกายลดต่ำลง ดังนั้น ในช่วงเวลาพักฟื้น 5-6 สัปดาห์นี้ คุณแม่หลังคลอดควรทานอาหารเหลวก่อน แล้วค่อยทานอาหารย่อยง่าย ที่สำคัญต้องทานอาหารที่ช่วยฟื้นฟูร่างกาย และเสริมสร้างน้ำนม เช่น ฟักทอง กุยช่าย หัวปลี นม เป็นต้น

รวมถึงควรหลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารที่ไม่สุก อาหารทอด อาหารรสจัด และหน่อไม้ เพราะอาจทำให้แผลผ่าคลอดหายช้า อีกทั้งพยายามอย่าให้แผลโดนน้ำ เพราะอาจทำให้แผลติดเชื้อและเกิดการอักเสบ

ขณะที่ พญ.กมัยธร เทียนทอง นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานสูติ-นรีเวชศาสตร์ รพ.ราชวิถี กล่าวว่า สังคมไทยได้พัฒนาวิธีต่างๆ เพื่อดูแลคุณแม่หลังคลอดสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน อีกทั้งวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนไทยยังมีประเพณีในการปฏิบัติตัวและความเชื่อต่างๆ ตั้งแต่อยู่ในระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด ระยะหลังคลอด ดังนี้

ความเชื่อที่ 1 คุณแม่หลังคลอดต้องอยู่ไฟเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวเร็ว และส่งเสริมการไหลเวียนของเลือดนั้น ที่จริงแล้ว ปัจจุบัน ยังไม่มีงานวิจัยทางการแพทย์ชิ้นใดที่แสดงหลักฐานชัดเจนว่าการอยู่ไฟหลังคลอดมีประโยชน์ทางการแพทย์ที่จำเป็นหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพของคุณแม่ในระยะยาว

ความเชื่อที่ 2 ต้องดื่มยาดองเพื่อขับน้ำคาวปลา เรื่องนี้ไม่เป็นความจริงทางการแพทย์ และไม่แนะนำให้ดื่มแอลกอฮอล์หลังคลอด เพราะอาจส่งผลให้มดลูกหดตัวไม่สมบูรณ์ จนทำให้มีเลือดออกมากกว่าปกติ เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน ขณะเดียวกัน แอลกอฮอล์สามารถผ่านเข้าสู่น้ำนม และอาจมีผลกระทบต่อทารก อาทิ ทำให้การเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกล่าช้า อีกทั้งอาจทำให้ทารกง่วงซึมหรือมีปัญหาด้านการนอนหลับ

ส่วนน้ำคาวปลาหลังคลอดเป็นการขับของเหลวที่ประกอบด้วยเลือด เนื้อเยื่อมดลูก และเมือกที่หลงเหลืออยู่ในมดลูกหลังการคลอด ซึ่งจะถูกขับออกมาเองตามธรรมชาติ ภายในระยะเวลา 4-6 สัปดาห์หลังคลอด โดยขึ้นอยู่กับการหดตัวของมดลูก และการบีบรัดตัวของมดลูกหลังคลอดเป็นกลไกธรรมชาติที่ช่วยในการขับน้ำคาวปลา

ความเชื่อที่ 3 ต้องเคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุด แต่ในความเป็นจริง การเคลื่อนไหวร่างกายหลังคลอดเป็นสิ่งที่แนะนำและมีประโยชน์ต่อการฟื้นฟูร่างกายของคุณแม่หลังคลอด ทั้งกรณีการคลอดธรรมชาติหรือการผ่าตัดคลอด นอกจากนี้ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ อาทิ การเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำลึก ลดการเกิดพังผืดจากการผ่าตัดคลอดด้วย แต่ควรเคลื่อนไหวร่างกายอย่างระมัดระวัง เป็นไปอย่างช้าๆ และสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากหรือยกของหนัก

ความเชื่อที่ 4 ห้ามกินผักบางชนิดหรือผักใบเขียว ความเชื่อนี้ไม่สอดคล้องกับหลักฐานทางการแพทย์ เพราะผักใบเขียวและผักชนิดอื่นๆ เป็นแหล่งสำคัญของวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงการฟื้นฟูร่างกาย และช่วยสร้างน้ำนมสำหรับคุณแม่หลังคลอด อีกทั้งไม่ได้มีส่วนทำให้เกิดความอ่อนเพลียหรือปวดเมื่อย ตราบใดที่ร่างกายได้รับอาหารที่หลากหลายและเพียงพอ

ความเชื่อที่ 5 ต้องกินอาหารเผ็ดๆ เพื่อให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น ความเชื่อนี้ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์รองรับ และการเข้าอู่ของมดลูกหรือการหดตัวกลับสู่ขนาดปกติ เป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเมื่อมดลูกบีบรัดตัว เพื่อขับเลือดและเนื้อเยื่อที่หลงเหลืออยู่ภายในมดลูกหลังการคลอด ซึ่งการนวดประคบร้อนสามารถช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และส่งเสริมการหดตัวของมดลูก นอกจากนี้ การให้ทารกดูดนมบ่อยๆ ยังช่วยกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนออกซิโตซิน (Oxytocin) ช่วยให้มดลูกหดตัวได้ดีขึ้น

ส่วนการกินอาหารรสเผ็ดไม่ได้มีผลต่อกระบวนการข้างต้น และการกินอาหารเผ็ดมากๆ อาจทำให้คุณแม่หลังคลอดมีอาการท้องเสีย แสบท้อง หรือไม่สบายท้องได้ อีกทั้งอาจมีผลต่อทารกที่ได้รับน้ำนม รู้สึกไม่สบายท้องหรือเกิดอาการแพ้ได้

ความเชื่อที่ 6 ห้ามดื่มน้ำเย็นเพราะจะทำให้น้ำนมไหลน้อยลง เป็นความเชื่อที่ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์รองรับ และการดื่มน้ำเย็นไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อการผลิตน้ำนมหรือสุขภาพของคุณแม่หลังคลอด ร่างกายของคนเรามีกลไกปรับอุณหภูมิน้ำที่ดื่มเข้าไปให้เท่ากับอุณหภูมิของร่างกายอยู่แล้ว ขณะที่การผลิตน้ำนมเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นฮอร์โมนออกซิโทซินและโปรแลคติน ดังนั้น การดื่มน้ำเย็นหรือร้อนจึงไม่มีผลโดยตรงต่อปริมาณน้ำนม

การที่คุณแม่หลังคลอดให้นมบุตรบ่อยๆ และดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะช่วยรักษาสมดุลของร่างกาย และส่งเสริมการผลิตน้ำนมด้วย ส่วนการดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำที่อุณหภูมิห้องสามารถให้รู้สึกผ่อนคลาย และกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตได้ แต่ไม่มีข้อห้ามในการดื่มน้ำเย็น

ความเชื่อที่ 7 ห้ามคุณแม่หลังคลอดสระผมเพราะจะทำให้ป่วยไข้ ที่จริงแล้ว คุณแม่หลังคลอด สามารถสระผมได้ด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำที่ไม่เย็นจนเกินไป และต้องอย่าลืมเช็ดหรือเป่าผมให้แห้งสนิท สำหรับข้อห้ามนี้เป็นกุศโลบายที่ถูกส่งต่อกันมาเพื่อลดอาการเจ็บป่วยของคุณแม่หลังคลอดที่มีฮอร์โมนและภูมิคุ้มกันลดลงอย่างรวดเร็ว และในอดีตไม่ได้มีนวัตกรรมที่ช่วยทำให้ผมแห้งไวขึ้น อย่างเช่นพัดลม หรือไดร์เป่าผม

การดูแลตัวเองหลังการคลอดเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง คุณแม่หลังควรรับประทานอาหารที่มีค่าอาหารต่อครั้งสูงพอสมควร เพื่อให้ได้พลังงาน และสารอาหารที่เพียงพอในการฟื้นฟู และควรพักผ่อนให้เพียงพอ รักษาความสะอาดของทรวงอกและร่างกาย การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อหลังคลอด เช่น การเดินเร็วๆ ใช้บันไดขึ้นลง หรือออกกำลังกายเบาๆ การดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีจะช่วยให้คุณแม่หลังคลอดรู้สึกสุขภาพดีทั้งกายและใจ ตลอดระยะเวลานี้.