เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 2 ต.ค. 67 ที่ร้านกาแฟ คอฟฟี่ เดอลา สาขาหลักเมืองแกลลอรี่ เขตเทศบาลนครขอนแก่น นายบัวเรียน อโรคยนันท์ อดีตผู้อำนวยการเชี่ยวชาญโรงเรียนอนุบาลขอนแก่น และโรงเรียนสนามบิน เปิดเผยว่า ขอแสดงความเสียใจกับผู้ปกครองและครอบครัวของผู้สูญเสียจากเหตุการณ์รถบัสทัศนศึกษาประสบอุบัติเหตุ ที่ จ.ปทุมธานี จนเป็นเหตุให้คณะครูและนักเรียนโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งในนามของอดีตผู้บริหารสถานศึกษา ยังคงเห็นด้วยที่กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดรายวิชาการเรียนนอกห้องเรียนแยกตามกลุ่มสาระวิชาหรือตามช่วงชั้น เพราะการเปิดประตูสู่โลกกว้าง ให้สิ่งรอบข้างเป็นครู ถือเป็นการเรียนรู้ที่เพิ่มทักษะและประสบการณ์และเปิดโอกาสให้ลูกหลานของเรา ควบคู่กับการสร้างแรงบันดาลใจที่ต้องทำตั้งแต่เด็กๆ ที่ผ่านมาการเรียนรู้นอกห้องเรียนเป็นสิ่งที่คณะครูและนักเรียน ให้ความสำคัญและต้องการอยากจะทราบว่าในแต่ละปีการศึกษานั้นจะเดินทางไปที่ใด เพราะเป็นกิจกรรมที่ สพม. นั้น อุดหนุนให้โรงเรียนดำเนินกิจกรรมทุกปีการศึกษา

“รายวิชานี้ นักเรียนไม่ประสงค์เข้าร่วมได้ อาจจะมีเหตุผลทั้งการที่ผู้ปกครองไม่ยินยอม เด็กๆ ไม่สบาย หรือมีเหตุผลส่วนตัว เพราะโครงการดังกล่าวนี้หรือรายวิชาดังกล่าวนี้ไม่มีผลต่อคะแนนหรือการพิจารณาเลื่อนชั้น ซึ่งแตกต่างจากรายวิชาลูกเสือและเนตรนารี หรือรายวิชาเฉพาะทาง แต่ที่ผ่านมา โรงเรียนก็จะทำโครงการเสนอพิจารณาอนุมัติกับผู้บริหารสถานศึกษา และทำการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งครูเองก็ไม่ทราบว่ารถที่นำมาให้บริการ หรือคนขับนั้นชำนาญเส้นทาง หรือรถมีปัญหาใดๆ หรือสภาพความพร้อมของคนขับและรถ ผู้รับจ้างอาจจะบอกว่าพร้อมครับ ไปได้ครับ แต่แท้ที่จริงแล้วอะไรก็เกิดขึ้นได้ จึงไม่อยากให้เหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นนั้นหายไปเพียงข้ามคืน รัฐบาลต้องจริงจังและกำหนดรูปแบบการดำเนินงานที่ชัดเจน อาจจะแยกแบบช่วงชั้น หรือระยะทาง หรือสถานที่ที่จะเรียนรู้หรือคุณสมบัติของรถที่มาให้บริการ เพื่อที่โรงเรียนหรือกระทรวงศึกษาธิการใช้ในการอ้างอิงหรืออิงตามระเบียบที่รัฐบาลกำหนดไว้เสียที” อดีต ผอ. กล่าว

นายบัวเรียน กล่าวอีกว่า ทุกครั้งที่จัดกิจกรรมนอกสถานที่โรงเรียนถือว่ามีความเสี่ยง ครั้งนี้ขอให้เกิดเป็นเหตุสะเทือนขวัญครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นกับคนไทย เกิดขึ้นกับลูกหลานของเรา รัฐบาลและกระทรวง ต้องเยียวยา ทั้งผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมถึงครอบครัวด้วย เช่นเดียวกันกับการบรรจุรายวิชาหรือหลักสูตรในการเอาตัวรอด การเผชิญเหตุ หรือวิธีการใดๆ ที่ถูกต้องกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมั่นใจว่ารัฐบาลจะเอาจริงกับเรื่องนี้ โดยยกกรณีศึกษาจากเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นต้นเรื่องที่จะนำไปสู่การรับมือ การแก้ไขปัญหา และการกำหนดรูปแบบการดำเนินงานให้กับโรงเรียนต่างๆ ต่อไป.