เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้ติดตามการบริหารจัดการน้ำเพื่อประเมินปริมาณการกักเก็บน้ำ 2 เขื่อนใหญ่ คือ เขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนา อีกทั้งอ่างเก็บน้ำอีก 16 แห่ง พร้อมกับล้ำน้ำสาขาในพื้นที่  โดยมีนายจำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ นายพีระพงษ์ หมื่นผ่อง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประเมินสถานกาณ์น้ำภายในห้องประชุมผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ

นายอนุพงศ์ กล่าวว่า จากพยากรณ์อากาศ  กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งว่าช่วงนี้จะมีฝนตกหนักโดยเฉพาะตามแนวชายแดนไทยกัมพูชา ทำให้ลำน้ำห้วยทับทันซึ่งเป็นลำน้ำสาขามีระดับน้ำสูงขึ้น ที่บริเวณจุดวัด M 42 อำเภอห้วยทับทัน พบระดับน้ำสูงเกือบถึงริมตลิ่งแล้ว หรือประมาณ 0.02 เมตร จะถึงริมตลิ่ง จึงแจ้งเตือนประชาชนได้เฝ้าระวังและอพยพสิ่งของขึ้นที่สูง ขณะที่จุดวัด M9 เทศบาลเมืองศรีสะเกษ ระดับน้ำในห้วยสำราญได้ 6.53 ม. ต่ำว่าริมตลิ่งอยู่ที่ 2.53 ม. ซึ่งหากมีปริมาณน้ำสูงถึง 8 ม.จึงมีผลกระทบต่อเขตชุมชนที่อยู่อาศัย

ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนทั้ง 2 แห่ง คือ เขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนา มีปริมาณน้ำกักเก็บเพิ่มขึ้น แต่ถือว่าน้อยกว่าทุกปี  โดยเขื่อนหัวนามีปริมาณกักเก็บน้ำร้อยละ 50 ของความจุ เขื่อนหัวนามีปริมาณกักเก็บน้ำร้อยละ 92 ซึ่งขณะนี้ได้ทำการยกบานประตูระบายน้ำทั้ง 2 แห่ง เป็นการพร่องน้ำรองรับน้ำฝนที่อาจจะหนักตกมาอีก ขณะเดียวกัน บริหารจัดการน้ำทั้ง 2 เขื่อน ต้องสมดุลทั้งป้องกันน้ำท่วมและรองรับแล้งคู่กัน

ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวย้ำว่า จากการลงพื้นติดตามเพื่อประเมินสถานการณ์น้ำในภาพรวม พบว่าอ่างกักเก็บน้ำทั้ง 16 แห่ง มีปริมาณน้ำกักเก็บเกินความจุเพียง 4 แห่ง ขณะที่อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำในการกักเก็บเกินร้อยละ 75 มีเพียง 5 แห่ง ส่วนอ่างเก็บน้ำอีก 7  แห่ง คงมีระดับน้ำที่กักเก็บอยู่ที่ร้อยละ 55  อีกทั้งระดับน้ำในลำน้ำสาขาสายสำคัญ ทั้งห้วยทา และ ห้วยขะยูง พบว่ามีระดับน้ำน้อยมาก จึงมั่นใจว่า ปีนี้คงไม่มีน้ำท่วม แต่ต้องบูรณาการจัดน้ำอย่างสมดุล ทั้งป้องกันน้ำท่วมและรองรับภัยแล้งในปีหน้าด้วย