นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 68 ได้แก่ แผนก่อหนี้ใหม่ 1.20 ล้านล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 61,723 ล้านบาท เมื่อเทียบกับแผนปี 67 (ปรับปรุงครั้งที่ 3) วงเงิน 1.14 ล้านล้านบาท ส่วนแผนการบริหารหนี้เดิมประจำปีงบ 68 อยู่ที่ 1.78 ล้านล้านบาท ลดลง 2.45 แสนล้านบาท และแผนการชำระหนี้ 4.89 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.49 หมื่นล้านบาท ซึ่งจากแผนดังกล่าว ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี ในปีงบประมาณ 68 จะอยู่ที่ 66.80% ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด ที่ไม่เกิน 70% 

สำหรับแผนการก่อหนี้ใหม่ เช่น การกู้เงินเพื่อชดเชนการขาดดุลงบประมาณปี 68 จำนวน 8.657 แสนล้านบาท การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลประจำปีงบ 67 และการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล เพิ่มเติมปีงบ 67 ที่มีการขยายเวลากู้เงินออกไปภายหลังจากวันสิ้นปีงบ สำหรับการเบิกจ่ายกันเหลื่อมปี 1.45 แสนล้านบาท และแผนเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการหรือเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไปของรัฐวิสาหกิจ 10 แห่ง เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอโอที  และรฟท. รวม 74,760 ล้านบาท ส่วนแผนการชำระหนี้ปีงบฯ 68 วางไว้ 4.10 แสนล้านบาท และแผนการชำระหนี้จากแหล่งเงินอื่นๆ 7.88 หมื่นล้านบาท 

ทั้งนี้ อนุมัติให้รัฐวิสาหกิจ 4 แห่ง ประกอบด้วย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การเคหะแห่งชาติ และบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการต่ำกว่า 1 เท่า สามารถกู้เงินและบริหารหนี้ภายใต้แผนประจำงบ 68 นอกจากนี้ยังรับทราบแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี (ปีงบ 68-72) และมอบหมายให้กระทรวงเจ้าสังกัดประสานงานกับรัฐวิสาหกิจที่เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการในกลุ่มโครงการที่ยังขาดความพร้อมในการดำเนินการ เพื่อเร่งรัดการดำเนินการและการลงทุนเพื่อเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐต่อไป