สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากเมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ว่า นายเกวิน นิวซัม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ลงนามในกฎหมายแก้ไขใหม่ เพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ของสหภาพยุโรป (จีดีพีอาร์) เพื่อควบคุมความเป็นส่วนตัวของ “ข้อมูลประสาท” จากการระบุพิกัด, พันธุกรรม และข้อมูลชีวภาพ

แคลิฟอร์เนียเป็นรัฐที่ 2 ของสหรัฐ ซึ่งขยายการคุ้มครองข้อมูลให้ครอบคลุมคลื่นสมอง ต่อจากรัฐโคโลราโด ที่บัญญัติกฎหมายให้การคุ้มครองเรื่องดังกล่าว เช่นเดียวกับลายนิ้วมือ

นายจาเร็ด เจนเซอร์ ที่ปรึกษาทั่วไปของมูลนิธินิวโรไรท์ ซึ่งร่วมสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้กับสมาชิกวุฒิสภาของรัฐ กล่าวว่า กฎหมายของรัฐจะส่งสัญญาณเตือน ต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีประสาทที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ให้ปกป้องความเป็นส่วนตัวของจิตใจผู้คน

การคุ้มครองจะครอบคลุมถึงสิทธิในการทราบถึงข้อมูลที่ถูกเก็บ, จำกัดการเปิดเผยข้อมูล และสามารถให้ผู้ป่วยเลือกไม่เปิดเผย หรือลบข้อมูลได้ โดยจะสามารถใช้กับอุปกรณ์ที่สามารถบันทึก หรือเปลี่ยนแปลงกิจกรรมของระบบประสาท ทั้งการฝังหรือสวมใส่ เพราะศักยภาพในการดักจับความรู้สึกหรือความคิด ก่อให้เกิดข้อกังวลว่า อาจถูกใช้เพื่อควบคุมความรู้สึกหรือความคิด

พวกเขาเชื่อว่า ความอ่อนไหวของข้อมูลประสาทจะเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ขณะที่ความละเอียด และขนาดของข้อมูลที่ถูกเก็บจะยิ่งใหญ่ขึ้น เนื่องจากปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ จะเร่งความสามารถในการถอดรหัสการสแกนสมองอย่างแม่นยำ

สตาร์ทอัพ “นิวโรลิงก์” ของนายอีลอน มัสก์ อภิมหาเศรษฐีนักลงทุน ซึ่งมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อเชื่อมโยงสมองกับคอมพิวเตอร์ เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการใช้ข้อมูลประสาทที่มูลนิธิกังวล

มักส์อ้างว่า นิวโรลิงก์จะเป็นมากกว่าการคืนการมองเห็นให้ผู้พิการทางสายตา โดยจะช่วยให้ผู้คนมองเห็นด้วยอินฟาเรดหรืออัลตราไวโอเลต หรือให้พวกเขาแบ่งปันแนวคิดกับผู้อื่นด้วยโทรจิต.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES