จากกรณีเหตุการณ์สูญเสียครั้งใหญ่ เกิดเพลิงไหม้รถบัสทัศนศึกษาของเด็กนักเรียน บนถนนวิภาวดีรังสิตขาเข้า หน้าอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก โดยจากการตรวจสอบรถบัสคันดังกล่าว บรรทุกนักเรียนจากโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จ.อุทัยธานี ซึ่งมีนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษา รวม 38 คน และครู 6 คน มาในรถ โดยเดินทางมาทั้งหมด 3 คัน คันที่เกิดเหตุเป็นคันที่ 2 เบื้องต้นพบผู้เสียชีวิตแล้ว 10 คน และได้บาดเจ็บเบื้องต้น 3 ราย อยู่ระหว่างนำส่งรักษาที่ รพ.แพทย์รังสิต และโรงพยาบาลใกล้เคียง ตามที่ข่าวเสนอไปก่อนหน้านี้
ด่วน! โศกนาฏกรรมรถบัสทัศนศึกษาเพลิงไหม้หน้าอนุสรณ์สถาน นักเรียนเสียชีวิตจำนวนมาก

เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีเว็บไซต์ “P.I.E Premium Modern Truck” ได้ออกมาให้ความรู้เรื่องเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ “ไฟไหม้รถ” เพื่อป้องกันเหตุร้าย ที่อาจเกิดขึ้นก่อนที่จะสายเกินแก้ โดยเดลินิวส์ออนไลน์จะมาบอกสาเหตุ และวิธีรับมือเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ไฟไหม้ พร้อมวิธีป้องกัน มีดังนี้

สาเหตุของการเกิดเหตุการณ์รถไฟไหม้
  • การเกิดอุบัติเหตุ
    การเกิดอุบัติเหตุเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดไฟไหม้ขึ้น แล้วถึงแม้ว่ารถยนต์รุ่นใหม่ๆ จะได้รับการออกแบบให้สามารถปกป้องเครื่องยนต์ แบตเตอรี่ และถังเชื้อเพลิงเป็นพิเศษ แต่อุบัติเหตุที่ร้ายแรงก็อาจทำให้ของเหลวไวไฟต่าง ๆ ที่อยู่ภายในรถเกิดการรั่วไหลออกมา แล้วทำให้เกิดไฟไหม้ตามมาได้นั่นเอง
  • ระบบน้ำมันเชื้อเพลิงรั่วไหล
    น้ำมันเชื้อเพลิง ก็มีความเกี่ยวข้องกับการเผาไหม้อย่างแน่นอนอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อมีเกิดการรั่วไหลของเชื้อเพลิงขึ้น ถ้าหากว่ามีประกายไฟเพียงแค่ครั้งเดียว ก็สามารถเป็นสาเหตุที่ทำให้รถเกิดการไฟไหม้ทั้งคันขึ้นได้
  • ระบบไฟฟ้าลัดวงจร
    ระบบไฟฟ้าจะถูกเดินสายไปที่ทั่วรถ ถ้าหากว่าเชื่อมต่อเอาไว้ได้ไม่ดี ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเกิดไฟไหม้ขึ้นได้
  • อุณหภูมิเครื่องยนต์สูง
    ถ้าหากตัวเครื่องยนต์มีอุณหภูมิที่สูงสุด ก็จะส่งผลทำให้ของเหลวต่าง ๆ ที่อยู่ในห้องเครื่องยนต์ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน หรือ น้ำยาหล่อเย็น มีอุณหภูมิสูงขึ้นตามไปด้วย และถ้าหากว่าของเหลวเหล่านี้รั่วออกมาก็อาจจะกระจายไปทั่วห้องเครื่อง จนทำให้เกิดไฟไหม้ขึ้นได้
  • อุณหภูมิที่เครื่องฟอกไอเสียสูงกว่าปกติ
    เครื่องฟอกไอเสียเป็นอุปกรณ์อีกหนึ่งชิ้นส่วนที่มีอุณหภูมิสูงอยู่แล้ว ถ้าหากว่าเครื่องฟอกไอเสียมีการทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้เกิดความร้อนที่สูงขึ้นมากกว่าปกติ จนทำให้ชิ้นส่วนอื่น ๆ เกิดความเสียหายตามไปด้วยได้ และก็อาจจะทำให้เกิดไฟไหม้ได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกับรถยนต์ที่มีการติดแก๊ส เนื่องมาจากความร้อนจากห้องเผาไหม้มีอุณหภูมิที่สูงกว่าอุณหภูมิที่เครื่องฟอกไอเสียจะรับได้ ซึ่งก็จะทำให้เกิดการละลาย และแตกได้
  • แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไฮบริด
    ถึงแม้ว่าโดยปกติแล้วรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ไฮบริดจะค่อนข้างมีความปลอดภัยอยู่ แต่ก็มีกรณีที่ไฟไหม้ขึ้นได้ให้เห็นอยู่บ้าง ซึ่งอาจจะมีสาเหตุเกิดจากน้ำยาหล่อเย็นที่เกิดรั่วไหลมาจากหม้อน้ำทำปฏิกิริยากับแบตเตอรี่ที่เกิดความชำรุดเสียหาย และจนทำให้เกิดประกายไฟได้นั่นเอง
  • การปรับแต่งที่ไม่ได้มาตรฐาน
    การปรับแต่งรถยนต์ให้มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างไม่ได้มาตรฐาน ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดรถไฟไหม้ขึ้นได้
  • ขาดการซ่อมบำรุงรักษา
    การปล่อยให้รถขาดการซ่อมบำรุงรักษา หรือปล่อยให้มีส่วนที่เกิดความเสียหายทิ้งเอาไว้เป็นเวลานาน จนทำให้มีส่วนอื่น ๆ ที่เสียหายตามไปด้วยได้
วิธีการรับมือและป้องกันเมื่อเกิดเหตุการณ์รถไฟไหม้
  • สิ่งที่เราสมควรจะทำเป็นสิ่งแรกก็ คือ “การตั้งสติให้ดีก่อน” แล้วจากนั้นถึงค่อยสังเกตถึงต้นเพลิงว่า เกิดมาจากที่จุดไหนของรถ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว สาเหตุนั้นจะมาจากเครื่องยนต์ ถ้าหากว่ารถยังมีการเคลื่อนที่อยู่ ให้พยายามนำเข้าที่ข้างทางก่อน และทำการปลดเกียร์ว่าง พร้อมกับให้เปิดสัญญาณไฟฉุกเฉิน ก่อนที่จะดับเครื่องยนต์ และดึงกุญแจรถออกมาด้วย ถ้าหากเป็นไปได้ให้ดึงคันโยกหรือปุ่ม เพื่อเปิดฝากระโปรงเอาไว้ ในกรณีที่เป็นรถติดแก๊ส ควรไปปิดวาล์วแก๊สที่ท้ายรถก่อน ถ้าหากยังพอมีเวลา สุดท้ายให้รีบออกจากบริเวณที่เกิดขึ้น มาในบริเวณที่ปลอดภัย เพื่อออกมาตั้งหลักและวิเคราะห์สถานการณ์กันต่อไป
  • การดับไฟอย่างถูกต้อง ถ้าหากรถใครที่มีการติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงถังเล็กๆ ติดรถเอาไว้ ให้หยิบติดมือออกมาด้วย ซึ่งอุปกรณ์ดับเพลิงถังควรมีติดรถไว้ทุกคัน จากนั้นให้ดับไฟด้วยถังดับเพลิง โดยการค่อยๆ ฉีดผ่านเข้าไปที่ทางช่องฝากระโปรง ที่แง้มอยู่เท่านั้น ห้ามเปิดฝากระโปรงขึ้นในขณะที่ยังมีไฟลุกอยู่อย่างเด็ดขาด เพราะถ้าหากว่าเปิดจะทำให้อากาศที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างดีพุ่งเข้าไปเติมเชื้อไฟให้เกิดการลุกลาม เข้าหาตัวจนได้รับบาดเจ็บขั้นรุนแรงได้ การดับไฟอย่างถูกต้อง คือ ต้องค่อยๆ ฉีดน้ำยาดับเพลิงเข้าไปจนกว่าจะมั่นใจว่าไฟเริ่มสงบลงแล้ว จากนั้นค่อยเปิดฝากระโปรงขึ้น เพื่อสามารถฉีดให้ทั่วอีกครั้ง จนไฟดับสนิทลง และที่สำคัญที่สุดอย่าลืมหาผ้าชุบน้ำ มาพันมือในตอนที่เปิดฝากระโปรงด้วย
  • หลังจากที่สามารถดับไฟได้แล้ว จะต้องไม่ลืมถอดขั้วแบตเตอรี่ของรถออกด้วย เพื่อไม่ให้เกิดประกายไฟขึ้นมาได้อีกครั้ง ถึงแม้ว่าจะมั่นใจว่าไฟดับสนิทแล้วก็ตาม เพราะโดยมากแล้วที่ไฟไหม้ขึ้นในรถยนต์ ก็มีสาเหตุหนึ่งเกิดมาจากระบบไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ซึ่งก็เป็นแหล่งกำเนิดไฟฟ้าหลักของรถ ดังนั้นเราจึงควรถอดขั้วแบตออก หลังจากไฟดับลงนั่นเอง เพื่อช่วยไม่ให้เกิดเปลวไฟขึ้นมาได้อีก
  • ถ้าไม่สามารถคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ไหวจริงๆ ให้หนีออกมา เพื่อเอาตัวรอดและคิดถึงความปลอดภัยเอาไว้ก่อน สำหรับเหตุการณ์เฉพาะหน้าโดยเฉพาะกับเหตุไฟไหม้นั้น ในบางทีเมื่อเกิดกับตัวเอง แล้วส่วนใหญ่ก็คงจะเกิดอาการตกใจจนทำอะไรไม่ถูกอย่างแน่นอน สิ่งที่ดีและสำคัญที่สุดคือตัวเราเอง ดังนั้นจะต้องรีบออกมาจากรถให้ไว ไปอยู่ในจุดปลอดภัยและให้ไกลจากจุดเกิดเหตุที่สุดก่อน จากนั้นจึงค่อยหาทางขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ขอบคุณข้อมูล : P.I.E Premium Modern Truck