เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงลูกจ้างโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ที่มีอยู่กว่า 60,000 รายจะรวมตัวเดินทางมาที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในวันที่ 8 ต.ค. เพื่อเรียกร้องไปยังรัฐบาลขอทวงคืนความถูกต้องและความั่นคงในการดำรงชีพ กรณีสำนักงบประมาณทำผิด พ.ร.บ.ประกันสังคม ด้วยการตัดงบประมาณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม และให้ปรับวิธีการจ้างเป็นวิธีการจ้างเหมาบริการในการจัดสรรงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามที่ สพฐ.ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 24 ก.ย. 2567 แจ้งเวียนถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต และผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษนั้น  กรณีดังกล่าว พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ ได้มีความห่วงใยเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งสพฐ.ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องนี้ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้จัดทำหนังสือถึงกรมบัญชีกลางที่เป็นเจ้าของระเบียบในการดำเนินการจ้างลูกจ้างเหมาบริการ อีกทั้งสำนักงบประมาณได้ตั้งงบประมาณตามระเบียบของกรมบัญชีกลาง คือ การจ้างเหมาบริการกลุ่มลูกจ้างตั้งแต่อัตราเงินเดือน 9,000 บาทไปจนถึง 15,000 บาท ซึ่งกลุ่มลูกจ้างสังกัด สพฐ.ได้รับผลกระทบจึงขอให้มีปรับค่าจ้างในจำนวนนี้ได้หรือไม่ เช่น จากกลุ่มลูกจ้างในรูปแบบจ้างเหมาบริการให้ปรับเป็นกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวได้หรือไม่ เป็นต้น

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ทุกข้อร้องเรียนที่กลุ่มลูกจ้างทำเรื่องร้องเรียนขอมา สพฐ.ได้จัดทำหนังสือแจ้งไปยังกรมบัญชีกลางแล้ว พร้อมหารือไปยังสำนักงบประมาณด้วยเช่นกัน ซึ่งจะต้องรอคำตอบจากทั้งสองหน่วยงานว่าจะออกมาในทิศทางใด ทั้งนี้ภาพรวมของค่าจ้างของกลุ่มลูกจ้างนั้น ตนเห็นด้วยที่จะต้องมีการปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่กลุ่มอัตราจ้างของผู้ที่จบปริญญาตรีให้เท่ากับข้าราชการที่ได้เริ่มต้นเงินเดือนที่อัตรา 16,500 บาท แต่กลุ่มอัตรจ้างที่ สพฐ.จ้างนั้นอยู่ในอัตราเงิน 15,000 บาทเท่านั้น ซึ่งสพฐ.ได้รับรู้และรับทราบปัญหาของกลุ่มลูกจ้างทุกคนทุกลุ่ม และกำลังประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางช่วยเหลือและแก้ปัญหาโดยเร็ว ส่วนสิทธิของกลุ่มอัตราจ้างที่จะไปสอบครูผู้ช่วยนั้น ยังได้รับสิทธิการสอบครูผู้ช่วยได้ตามเดิมไม่ได้กระทบสิทธิการไปสอบแต่อย่างใด