สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ว่าการปิดโรงไฟฟ้าแรตคลิฟฟ์-ออน-ซอร์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของสหราชอาณาจักร และใช้งานมาเกือบ 60 ปี ถือเป็นก้าวย่างสำคัญ ของความพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ภายในปี 2573 และการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี 2593

บริษัท ยูนิเปอร์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าแรตคลิฟฟ์-ออน-ซอร์ ระบุว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะเริ่มระยะเวลาการปลดระวาง 2 ปี ตั้งแต่เดือน ต.ค. นี้ ขณะที่ลูกจ้างและผู้รับเหมาจำนวน 350 คนภายในโรงไฟฟ้า จะถูกย้ายไปทำงานในตำแหน่งอื่น ๆ ของบริษัท หรือถูกเลิกจ้างภายใน 3 ช่วงเวลา ก่อนสิ้นปี 2569

ทั้งนี้ จะมีการพัฒนา “ศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและพลังงานปลอดคาร์บอน” ขึ้นมาแทนที่ โดยถือเป็นการสิ้นสุดการพึ่งพาถ่านหินของสกราชอาณาจักรซึ่งยาวนาน 142 ปี และถือเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศจี7 ที่เลิกใช้พลังงานถ่านหินอย่างสมบูรณ์

อนึ่ง เชื้อเพลิงฟอสซิลมีบทบาทสำคัญอย่างมาก ในการผลักดัน “การปฏิวัติอุตสาหกรรม” ระหว่างปี 2293-2393 ซึ่งทำให้สหราชอาณาจักรกลายเป็นมหาอำนาจระดับโลก ย้อนไปเมื่อช่วงปี 2523 เชื้อเพลิงฟอสซิลยังคิดเป็นร้อยละ 70 ของสัดส่วนการใช้พลังงานทั้งหมดในประเทศ ก่อนลดลงเมื่อช่วงปี 2533 หลังรัฐบาลเริ่มบังคับใช้กฎระเบียบจัดการมลพิษที่เข้มงวดยิ่งขึ้น

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรลดการพึ่งพาถ่านหินอย่างรวดเร็ว เหลือร้อยละ 38 ในปี 2556, ร้อยละ 5 เมื่อปี 2561 และร้อยละ 1 ในปี 2566

ส่วนเมื่อปีที่แล้ว การผลิตไฟฟ้า 1 ใน 3 ของสหราชอาณาจักร เกิดจากก๊าซธรรมชาติ, 1 ใน 4 มาจากพลังงานลม และร้อยละ 13 มาจากพลังงานนิวเคลียร์

โรงไฟฟ้าแรตคลิฟฟ์-ออน-ซอร์ เคยจ่ายกระแสไฟฟ้าให้บ้านเรือนถึง 2 ล้านหลัง แม้ในช่วงที่ความต้องการไฟฟ้าสูง อาทิ ในช่วงอากาศหนาวเย็นในปี 2565 และคลื่นความร้อนรุนแรง เมื่อปี 2566 ขณะที่การส่งมอบถ่านหินครั้งสุดท้าย 1,650 ตัน ก่อนการปิดตัวลงในช่วงฤดูร้อนนี้ มีศักยภาพในการจ่ายไฟได้เพียง 500,000 หลัง เป็นเวลาเพียง 8 ชั่วโมงติดต่อกัน

ทั้งนี้ ประวัติศาสตร์การพึ่งพาถ่านหินของสหราชอาณาจักร สามารถย้อนกลับไปถึงปี 2425 เมื่อโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งแรกของโลก ถูกสร้างขึ้น ใจกลางกรุงลอนดอน.

เครดิตภาพ : AFP