‘ทะเล’ ผืนน้ำกว้างใหญ่อันเปรียบเสมือนปอดของโลก ที่สามารถให้ทั้งอาหาร ออกซิเจน กระทั่งควบคุมสภาพอากาศ เหล่านี้นับว่าสำคัญต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะคน สัตว์ หรือพืช ทว่าปัจจุบัน ทรัพยากรทางทะเลกำลังถูกคุกคามอย่างหนักจากการทำประมงเกินขนาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมลพิษ ทำให้ระบบนิเวศทางทะเลเสียสมดุล และส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงวิถีชีวิตของผู้คนชายฝั่งนับล้านทั่วโลก

ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่า ประชากรโลกกว่า 600 ล้านคน ต่างพึ่งพามหาสมุทรเป็นแหล่งอาหารและใช้ในการประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาความอุดมสมบูรณ์ทางทะเล และสร้างความมั่นใจให้กับคนรุ่นหลังว่ายังสามารถมีอาหารทะเลบริโภคได้ ‘อาหารทะเลยั่งยืน’ จึงเป็นแนวคิดที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก ทั้งยังถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนจำเป็นจะต้องร่วมมือกัน โดยแนวคิดดังกล่าว เป็นการบริหารจัดการอาหารทะเลทั้งในทางการผลิตและบริโภค ด้วยการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล การจัดการประมงอย่างมีประสิทธิภาพ และการรับผิดชอบต่อชุมชน

สอดคล้องกับการที่ ‘บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)’ ได้ประกาศกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange’ 2030 ซึ่งเป็นช่วงต่อจากกลยุทธ์เดียวกันที่ประกาศเมื่อปี 2559 เพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารทะเล ด้วยการดูแลคนและโลกเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้กลายมาเป็นวาระเร่งด่วนของมวลมนุษยชาติ และระบบนิเวศที่สำคัญอย่างทะเลกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง ไทยยูเนี่ยนจึงตระหนักถึงสถานการณ์และความเร่งด่วนที่จะต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงตั้งงบประมาณ 7,200 ล้านบาท หรือกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเท่ากับกำไรสุทธิที่บริษัทได้รับในปี 2565 ทุ่มให้กับการทำกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange ไปจนถึงปี 2573 พร้อมตั้งเป้าหมายที่ท้าทายเพื่อมุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับห่วงโซ่มูลค่าธุรกิจอาหารทะเล

“ณ วันนี้ไทยยูเนี่ยนมองว่าความยั่งยืนคือหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจและ SeaChange เปรียบเสมือนใบอนุญาตที่จะทำให้เราดำเนินธุรกิจได้ในโลกปัจจุบัน เราเชื่อว่าการดูแลทรัพยากรของเราด้วยความรับผิดชอบเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อเป็นแหล่งอาหารและอาชีพให้กับประชากรโลกในรุ่นต่อไป ด้วยวิสัยทัศน์ของบริษัทในการที่จะก้าวไปเป็นบริษัทอาหารทะเลที่ผู้คนทั่วโลกเชื่อถือมากที่สุด SeaChange 2030 จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้เราบรรลุวิสัยทัศน์นี้  สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ ความเปลี่ยนแปลงที่เราช่วยกันผลักดัน จะเกิดประโยชน์ไม่เพียงแต่กับบริษัทเท่านั้น แต่คือความยั่งยืนเพื่อพวกเราทุกคน” ‘ธีรพงศ์ จันศิริ’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าว

สำหรับ SeaChange 2030 เป็นการต่อยอดจากกลยุทธ์ความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน ที่ประกาศครั้งแรกในปี 2559 และล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ไทยยูเนี่ยนก็ได้ประกาศพันธกิจเพื่อความยั่งยืนทั้งสิ้น 11 ข้อ ซึ่งครอบคลุมการดูแลทั้งผู้คนและโลก ทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติถึง 10 ประการด้วยกัน โดยพันธกิจดังกล่าวประกอบไปด้วย 1. เส้นทางสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์: ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 42 เปอร์เซ็นต์ในขอบเขตที่ 1, 2 และ 3 ภายในปี 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593, 2. การทำประมงอย่างรับผิดชอบ: 100% ของอาหารทะเลที่จับจากธรรมชาติจะผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ หรือมาจากโครงการปรับปรุงการประมง โดยมีแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านแรงงาน และขยายขอบเขตการทำงานมากกว่าวัตถุดิบปลาทูน่าไปยังสัตว์น้ำอื่นๆ,

3. การเพาะเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ: กุ้งเพาะเลี้ยงทั้งหมด 100% ของไทยยูเนี่ยน ผลิตขึ้นโดยส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน้อยที่สุด และสอดคล้องกับแนวปฏิบัติด้านสวัสดิการและสภาพการทำงานของอุตสาหกรรมอาหาร อย่าง โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในฟาร์มกุ้ง ที่มุ่งไปที่การลงทุนในฟาร์มเป็นหลัก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิต ลดการใช้พลังงาน และเพิ่มการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในส่วนของฟาร์มและอาหารที่ใช้เลี้ยงกุ้งนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการบรรลุเป้าหมายที่จะเพิ่มผลผลิตและลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ควบคู่กัน,

4. การฟื้นฟูระบบนิเวศ: ไทยยูเนี่ยนจะสนับสนุนงบประมาณ 250 ล้านบาท (มากกว่า 7 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศสำคัญ, 5. เกษตรกรรมที่มีความรับผิดชอบ: 100% ของวัตถุดิบถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์มจะได้รับการรับรองว่าปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า ส่วนวัตถุดิบไก่จะได้รับการจัดหาอย่างมีความรับผิดชอบ, 6. กระบวนการผลิตที่เป็นเลิศ: ไทยยูเนี่ยนจะปรับปรุงระบบภายในโรงงานเพื่อลดการปล่อยน้ำเสียเป็นศูนย์ ลดของเสียฝังกลบเป็นศูนย์ และลดการสูญเสียอาหารเป็นศูนย์ ในโรงงานหลักห้าแห่งทั้งในและต่างประเทศ,

7. งานที่ปลอดภัย มีคุณค่า และเท่าเทียม: ไทยยูเนี่ยนยังคงเดินหน้าสร้างสถานที่ทำงานที่ปลอดภัย มีคุณค่า ยอมรับความแตกต่างและหลากหลาย มีความเท่าเทียมให้กับพนักงานทุกคนและยังขยายผลให้ครอบคลุมในประเด็นที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริหารองค์กรเป็นผู้หญิง 100% ของเรือประมงที่จัดหาวัตถุดิบให้บริษัทจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม และไม่มีแรงงานทาสสมัยใหม่ ไปจนถึง 100% ของฟาร์มสัตว์น้ำที่จัดหาวัตถุดิบให้บริษัทจะต้องดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านแรงงาน,

8. การลดขยะพลาสติกในทะเล: ไทยยูเนี่ยนจะจัดการขยะพลาสติก 1,500 ตันไม่ให้ปนเปื้อนสู่แม่น้ำลำคลองและทะเล, 9. โภชนาการและสุขภาพ: 100% ของผลิตภัณฑ์ที่เก็บได้ในอุณหภูมิห้อง เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง ภายใต้แบรนด์ของบริษัทจะต้องยึดตามแนวทางด้านโภชนาการ และ 100% ของผลิตภัณฑ์ที่เก็บได้ในอุณหภูมิห้องที่ออกใหม่ทั้งหมดภายใต้แบรนด์ของบริษัท จะต้องส่งเสริมโภชนาการเชิงบวกเพื่อสุขภาพที่ดี,

10. บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน: ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์สินค้าของบริษัท 100% จะต้องใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนภายในปี 2568 และไทยยูเนี่ยนจะสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่ผลิตให้กับคู่ค้าอย่างน้อย 60% ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน อย่าง ‘ECOTWIST’ ที่ใช้นวัตกรรม SmartStrip’ ในการนำกระป๋องมาวางต่อกันในแนวสูง ซึ่งอยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตร โดยมีจุดเด่น ตั้งแต่ กระป๋องดีไซน์ใหม่ น้ำหนักเบา สามารถบรรจุทูน่าคุณภาพได้ในปริมาณเท่าเดิม ซึ่งจะช่วยลดการใช้เหล็กเพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์ได้กว่า 400 ตันต่อปี ลดการใช้วัตถุดิบทรัพยากรจากขนาดกระป๋องที่ลดลง ทำให้ปริมาณน้ำมันทานตะวัน น้ำแร่ หรือน้ำเกลือภายในกระป๋องลดน้อยลง ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่นิยมบริโภค สามารถลดการใช้ทรัพยากรได้ถึง 1,500 ตันต่อปี ลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก Shrink wrap ได้มากถึง 65 ตันต่อปี ลดการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษ: ได้ถึง 300 ตันต่อปี ตลอดจน รีไซเคิลได้ง่าย โดยไม่ต้องแยก SmartStrip ออกจากกระป๋อง

และ 11. การเป็นพลเมืองดีของสังคม: ไทยยูเนี่ยนจะสนับสนุนงบประมาณจำนวน 250 ล้านบาท (มากกว่า 7 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อช่วยเหลือและตอบแทนชุมชนในพื้นที่ที่เราดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีงานบรรเทาสาธารณภัยในช่วงเวลาวิกฤตอีกด้วย ซึ่งการบรรลุเป้าหมายต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยลดปริมาณคาร์บอน จำกัดปริมาณของเสียให้น้อยที่สุด รวมถึงป้องกันและฟื้นฟูระบบนิเวศ และเพื่อให้มั่นใจว่าจะทำให้เกิดงานที่ปลอดภัย มีคุณค่าและเท่าเทียม ให้เกิดขึ้นจริงตลอดห่วงโซ่มูลค่า

นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยน ยังได้ร่วมมือกับองค์กรด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมระดับโลก พร้อมผนึกภาคีกับผู้ประกอบการหลายพันรายในภาคประมงและภาคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเรือประมงและฟาร์มสัตว์น้ำ องค์กรพันธมิตร ได้แก่ Sustainable Fisheries Partnership, Aquaculture Stewardship Council, The Nature Conservancy, IDH – the Sustainable Trade Initiative,และ The Global Ghost Gear Initiative ไม่เพียงเท่านี้ ยังกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ให้สอดคล้องกับแนวทางขององค์กร Science Based Targets initiative (SBTi) และจะเริ่มใช้การเก็บข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายให้ได้ ซึ่งไทยยูเนี่ยน นับว่าเป็นบริษัทอาหารทะเลระดับโลกบริษัทแรกที่กำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยได้รับการรับรองจากองค์กร SBTi

ทั้งนี้ การประกาศกลยุทธ์ความยั่งยืนดังกล่าว ทำให้ไทยยูเนี่ยนได้รับการยอมรับในระดับสากล รวมถึงการได้รับการจัดอันดับในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ถึง 9 ปีติดต่อกันและเป็นอันดับ 1 ในประเภทผลิตภัณฑ์อาหารถึง 3 ปีด้วยกัน นอกจากนี้บริษัทยังได้รับการจัดอันดับจากดัชนี Seafood Stewardship Index เป็นอันดับที่ 1 สำหรับการทำงานตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยองค์การสหประชาชาติ