สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดผลการดำเนินงานโครงการฤดูกาลสุขปลอดเหล้าและงดเหล้าเข้าพรรษา ปี2567 ดำเนินการ 21 ปีอย่างต่อเนื่อง นายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า การดำเนินงานภายใต้แนวคิด “งดเหล้า 3 เดือน เปลี่ยนคุณเป็นคนใหม่” ซึ่งมีชมรมคนหัวใจเพชรและกลุ่มพลังหญิงหัวใจเพชร เป็นแกนนำในการขับเคลื่อนและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกคนในชุมชน และกลุ่มเครือข่ายเยาวชน YSDN (Youth Strong & Development Network) เป็นอีกกำลังหนุนเสริมสำคัญในการสื่อสารชวน ลด ละ เลิกเหล้า รวมทั้งป้องกันไม่ให้มีนักดื่มหน้าใหม่เกิดขึ้นในพื้นที่ ตามแนวทาง การสร้างคน เชื่อมเครือข่าย และขยายศักยภาพชุมชน และในการรณรงค์ในปีนี้ยังเน้นสร้างคนคุณภาพไม่เน้นปริมาณ โดยติดตาม ชวน ช่วย ชมเชียร์ กันอย่างเข้มข้น พร้อมทั้งมาตรการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิต ว่าที่คนหัวใจเพชร ภายใต้แนวคิด สังคมสุขปลอดเหล้า

สคล.มีการเก็บข้อมูล ผู้ลงนามปฏิญานตนงดเหล้าช่วงเข้าพรรษา ผ่านระบบลงนามปฏิญาณตน SOBER CHEERs ของสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า รวมระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา ข้อมูลผู้เข้าร่วมจาก 1,010 ชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวน 28,705 คน พบว่าประหยัดเงินค่าเหล้าได้ จำนวน 3,620 บาท/คน/เดือน ดังนั้นเมื่อครบ 3 เดือน จะสามารถประหยัดเงินได้ จำนวน 183,597,810 บาท โดยมีเป้าหมายว่าผู้เข้าร่วมจะร่วมลดละเลิกกับโครงการตลอดไป และยังพบว่า 85% ของผู้ลงนามทั้งหมด มีแรงจูงใจในการงดดื่มเพราะห่วงสุขภาพของตนเอง ดังนั้น แนวทางการนำเรื่องสุขภาพมาเป็นตัวนำในการชวนเลิกเหล้าจึงเป็นประเด็นหลัก

นางสาวพิมพ์มณี เมฆพายัพ ผู้จัดการโครงการฤดูกาลสุขปลอดเหล้าและงดเหล้าเข้าพรรษา กล่าวว่า การรณรงค์จะแบ่งเป็น 4 กลยุทธ์ คือ 1) สร้างกระแสการรับรู้และเชิญชวนให้ประชาชนใช้โอกาสเทศกาลเข้าพรรษา 3 เดือน ในการฟื้นกาย ใจ ในการรับรู้ผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดจากการดื่ม โดยออกแบบการสื่อสารให้สอดคล้องกับกลุ่มผู้รับสารที่มีความหลากหลายมากขึ้น 2) สนับสนุนหน่วยงาน ภาคีเครือข่าย ชุมชน ที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยจัดเก็บข้อมูลด้วย Google from เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการสนับสนุน สื่อรณรงค์ต่างๆ รวมทั้งติดตามช่วยเชียร์ผู้สมัครใจ ลด ละ เลิกเหล้าตลอดเข้าพรรษา 3) สนับสนุนกลุ่มพลังหญิงหัวใจเพชร (80 กลุ่ม) เป็นแกนนำในการณรงค์ ชวน ช่วย ชมเชียร์งดเหล้าเข้าพรรษา โดยพัฒนาศักยภาพและสนับสนุนกิจกรรม 4) สนับสนุนชมรมคนหัวใจเพชร (40 กลุ่ม) ให้มีทักษะในการชวน ช่วย ชมเชียร์ สำหรับทักษะนักสื่อสารสร้างแรงบันดาลใจ ให้มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ และการออกแบบรณรงค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมสุขปลอดเหล้า ให้เกิดพื้นที่ปลอดภัย มีวินัยการออม

นอกจากนี้ ส่งเสริมให้พึ่งพาตนเอง เช่น การทำบัญชีครัวเรือน การปลูกผักสวนครัว การทำเครื่องอุปโภคบริโภคไว้ใช้เอง เพื่อลดต้นทุนเงินไหลออก, พัฒนาทักษะการพัฒนาความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมถึงส่งเสริมการรักษาสุขภาพให้ปลอดจากโรค NCDs ด้วยการใช้สมุนไพรและธรรมชาติบำบัด เพื่อสร้างเสริม ฟื้นฟูสุขภาพ โดยเชื่อมโยงกับ Sobrink แนวคิดเรื่องการฟื้นฟูสภาพตับ มาเป็นการฟื้นฟูพลังชีวิต ครอบคลุมสุขภาพองค์รวม หลักสูตร Sobrink นี้ จึงเป็นเรื่องการขยาย โดยเป็นการเชิญชวน ทั้งคนที่ดื่มและไม่ดื่มในสังคม มาดูแลตัวเองกันแบบง่ายๆ ในแต่ละวัน

นายมงคล ปัญญาประชุม ผู้ประสานงานเครือข่ายงดเหล้าภาคอีสานตอนล่าง กล่าวว่า การจัดกระบวนการทำงานช่วงต้นพรรษาของบริบท 9 จังหวัดอีสานตอนล่าง ปัจจุบันมีคนที่เข้าร่วมผ่านระบบ จำนวน 7,263 คน ในจำนวนนี้ จะประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 1,462 บาท/คน หากรวมระยะเวลา 3 เดือน จะคิดเป็นเงิน 31,855,518 บาท การจัดกิจกรรมงานงดเหล้าเข้าพรรษา ซึ่งเป็นโอกาสที่ดี ที่ประชาคมจังหวัดได้ชวนหน่วยงานต่างๆโดยเฉพาะ นายอำเภอร่วมทำงานรณรงค์ จากการติดตามพบว่า หลายจังหวัดมีกระบวนการทำงานทั้งระดับชุมชน อำเภอ และจังหวัด ไปจนถึงการทำงานร่วมกับ หน่วยงาน โดยใช้วิธีลงนามปฏิญาณตนบวชใจ ผ่านเอกสาร ผ่านสมุดลงนาม อีกช่องทาง ซึ่งเข้าพรรษาปีนี้เป็นที่คึกคักและมาช่วยปลุกให้กระบวนการทำงานงดเหล้าถูกพูดถึงอย่างมีชีวิตชีวา และการทำงานงดเหล้าเข้าพรรษานำไปสู่ประเด็นอื่นๆด้วย โดยฐานของการทำงานงดเหล้าเข้าพรรษา อีสานล่างมี 3 ฐานด้วยกัน 1) การทำงานพื้นที่ชุมชนคนสู้เหล้า 2) ประสานงานระดับนโยบาย 3) ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีต่างๆ เช่น เครือข่ายตำรวจ องค์กรการศึกษา เครือข่ายอสม. ที่เป็นภาคีเครือข่ายร่วมกับเรา ได้ออกมาแสดงพลังร่วมด้วยเช่นเดียวกัน