เมื่อเวลา09.30น. วันที่ 30ก.ย.2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา  โดยมีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม  ทั้งนี้มีการพิจารณากระทู้ถามเป็นหนังสือของ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. ถามรมว.พาณิชย์ เรื่อง ขอให้รัฐบาลเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาหารครอบงำของอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ เพื่อปกป้องผู้ประกอบการ SMEsในไทย ว่า แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซใหญ่ข้ามชาติที่เข้ามาในประเทศไทยเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว มีผลกระทบต่อ เอสเอ็มอีไทย ซึ่งแพลตฟอร์มล่าสุดคือ ทีมู(TEMU) ประเทศจีน ที่ขายสินค้าทุกชนิดด้วยราคาต่ำมาก โดยใช้วิธีตัดพ่อค้าคนกลางออกไป ขณะเดียวกันคนที่ซื้อสินค้าราคาถูกเหล่านี้ ก็อาจจะได้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพหรือใกล้หมดอายุมีสารปนเปื้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือใช้ไม่ได้จริงที่เราเรียกว่าไม่ตรงปกเมื่อสินค้าขายไม่ได้ก็กลายเป็นขยะที่กำลังมีปัญหาอยู่ทุกวันนี้

น.ส.นันทนา กล่าวต่อว่า ใน 6 เดือนแรกของปี 2567 มีการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 7.12 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.33 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าจากจีนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.66  ก่อนหน้านี้เห็นข่าวว่ารัฐมนตรีขอความร่วมมือผ่านทางทูตให้ทางทีโม มาจดทะเบียนและมาตั้งบริษัทในไทย ก็เอาใจช่วยว่าจะทำได้จริง เพราะขนาดเกาหลีใต้ สามารถทำให้ทีมูมาจดทะเบียนในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา แต่เมื่อไปตรวจสอบพบว่าสถานที่ตั้งไม่พบว่ามีผู้บริหาร มีเพียงป้ายที่แสดงสัญลักษณ์ของบริษัททีมูอยู่เท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายรัฐมนตรีที่ไปชวนเขามาตั้งบริษัท ขณะที่กิจกรรมไลฟ์คอมเมอร์ซไทยจีนที่ดึงอินฟลูเอนเซอร์ช่วยขายสินค้าไทยที่คาดว่า 5 วันจะทะลุพันล้านบาท ดูตัวเลขแล้วน่าทึ่ง แต่เทียบไม่ได้กับยอดที่ไทยขาดดุลจีน ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาที่ฉาบฉวย

น.ส.นันทนา กล่าวต่อว่า ตนขอตั้งคำถามต่อกระทรวงพาณิชย์เพื่อให้เอสเอ็มอีได้เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ 5 ข้อคือ1.มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบงำจากอีคอมเมอร์ซข้ามชาติอย่างไร 2.มีมาตรการในการสนับสนุนเยียวยาSMES ในไทยที่ได้รับผลกระทบอย่างไร 3.มีมาตรการในการจัดการกับปัญหาสินค้าด้อยคุณภาพอันเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคที่จะเข้ามาตามแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติอย่างไร 4.มีแผนยุทธศาสตร์อย่างไรในการแก้ไขการขาดดุลการค้าไทยจีน และ5. ประเทศไทยจะร่วมมือกับอาเซียนอย่างไรในการจัดการกับปัญหานี้

 ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ ชี้แจงว่า ไทยมีความจำเป็นต้องพึ่งพาจีนเพราะเป็นตลาดใหญ่ หากเจรจาต่อรองขายของในจีนจะได้ประโยชน์เยอะ ซึ่งได้เชิญ เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เข้าหารือหลังรับตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งจีนยืนยันว่าพร้อมให้ความร่วมมือกับไทยทุกอย่าง โดยเรื่องแรกๆ ที่จะทำคือต้องให้สินค้าจีนมีมาตรฐาน เช่น ผ่าน มอก. อย. และมีป้ายติดชัดเจน ซึ่งจีนยืนยันว่าพร้อมปฏิบัติตามกฎหมายไทยอย่างเคร่งครัด และส่วนตัวจะไม่ยอมเด็ดขาดหากมีการขายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้จีนยังยืนยันที่จะลงทุนในไทยเพิ่ม แต่สิ่งสำคัญที่สนใจอยากให้ต่างชาติ มีเทคโนโลยีที่สููงมาลงทุนในไทยมากขึ้น

นายพิชัย  กล่าวว่า ส่วนในกรณี ทีมูแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ สัญชาติจีน ถ้ามาตั้งที่ไทยจริง ก็ต้องผ่านมาตรฐานต่างๆและจะติดตามมอนิเตอร์สินค้าจีนที่เข้ามาอย่างใกล้ชิด  ยืนยันว่าไม่นิ่งนอนใจมีมาตรการให้ความช่วยเหลือ SMEs ทั้งสร้าง SMEs รุ่นใหม่ที่มีความสามารถ และการแก้ไขปัญหา SMEs ต้องบูรณาการทุกกระทรวง ต้องดูเรื่องหนี้สินของ SMEs เพราะปัจจุบัน หนี้เพิ่มขึ้นจำนวนมากจะยากต่อการเดินหน้าต่อ โดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องร่วมมือกัน แก้ไขปัญหาในภาพรวม เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งสินค้าจีนมาแทรกแซง SMEs เป็นส่วนหนึ่งที่อาจจะเป็นปลายเหตุ แต่ต้นเหตุที่เกิดปัญหามาจากโควิด-19 ซึ่งการตัดหนี้ก็เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้น จึงอยากให้ ธปท.มองว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งในต่างประเทศเป็นเรื่องปกติที่ต้องช่วยเหลือกัน กระทรวงการคลังร่วมมือกับ ธปท. แต่ ธปท.เรายังไม่ยอมลดดอกเบี้ย พอตนออกมาตำหนิ ธปท.คนก็มาตำหนิตน

“ผมยืนยันว่าไม่ได้ด่าแบงค์ชาติ แต่ถ้าเศรษฐกิจแย่ขนาดนี้จะต้องออกมาตรการช่วยเหลือให้ฟื้น เหมือนประเทศจีนออกแพ็คเกจใหญ่มาช่วย แต่10 ปี แบงค์ชาติไม่ได้ทำอะไรเลย ทั้งที่มีหน้าที่ช่วยเศรษฐกิจด้วย ไม่ใช่เพียงกระทรวงการคลังหรือรัฐบาลมีหน้าที่อย่างเดียว แต่ทั้งโลกแบงค์ชาติมีหน้าที่ฟื้นเศรษฐกิจ อย่าง สหรัฐฯ หากมีปัญหาก็อัดเงินจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้น ผมยืนยันไม่อยากทะเลาะกับใครหรือข้องใจกับใคร บางครั้งอาจจะพูดแรงไปบ้าง เพราะรู้ถึงความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งหอการค้า ภาคอุตสาหกรรม โทรมาบอกว่ามันจะเจ๊งกันอยู่แล้ว มาเจอโควิดดอกเบี้ยแพงหลายเรื่อง เราพยายามแก้ทุกทาง แต่ต้องแก้ภาพรวมทั้งหมดด้วย เราอยากแก้ทุกอย่างพร้อมกัน ร่วมมือกันทุกฝ่าย ที่ผ่านมาถือเป็นวิกฤต ทำอย่างไรให้ฝ่าวิกฤตไปให้ได้” นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่กระทรวงพาณิชย์กำลังทำคือเร่งเจรจาการค้า ในการแก้ปัญหาผู้ประกอบการ SMEs จะมีการแถลงเร็วๆนี้ โดยนายกรัฐมนตรี มีหลายโปรแกรมที่จะให้ความช่วยเหลือ เพราะเป็นหน้าที่หลักรวมถึงต้องผลักดันผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ตนยินดีเปิดรับฟัง และแก้ไขให้กับผู้ที่มีปัญหา.