กรณี “ปุจฉาถนนก่ออันตาย??” นั้น ไม่เพียงเกิดกับถนนเดิม ๆ…แม้แต่กับถนนสร้างใหม่-เส้นใหม่ ๆ ก็ด้วย?? โดยประเด็นปุจฉาก็มิได้โฟกัสเพียงตัวถนน หากแต่ยังรวมสภาพแวดล้อมต่าง ๆ องค์ประกอบต่าง ๆ รวมถึงทางข้ามถนนของผู้เดินเท้า หรือแม้แต่ความจำเป็นที่จะต้องมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องคอยดูแลการใช้ถนนเพื่อความปลอดภัย ดังเช่นที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีกระแสปุจฉาอื้ออึง และมีกระแสเรียกร้องให้แก้ไขปรับปรุง กับบางบริเวณของถนนบางเส้นในเขตกรุงเทพฯ…

กรณีนี้ทั้ง “บ่งชี้คุณภาพชีวิตผู้คน”

และ “บ่งชี้คุณภาพการพัฒนาด้วย!!”

ทั้งนี้ อันเนื่องจากมีกระแสปุจฉา “ถนนไม่ปลอดภัย” เซ็งแซ่ขึ้นอีกเมื่อวันก่อน…วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็พลิกแฟ้มนำข้อมูลมาสะท้อนย้ำไว้อีกครั้งว่า… “อุบัติเหตุทางถนน” นั้นนอกจากจะเกิดจากปัจจัยหลัก ๆ อย่าง “ขับขี่ประมาท-ง่วงแล้วขับ-เมาแล้วขับ” หรือจาก “สภาพรถที่เป็นปัญหา” รวมถึงจาก “เหตุสุดวิสัย” ต่าง ๆ แล้ว…ก็ไม่ควรมองข้ามเกี่ยวกับ ปัจจัยร่วม” ที่สามารถจะ “ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน”หรืออาจจะ “ก่อเกิดเหตุร้ายแรงอย่างไม่คาดคิด”โดยที่…

1 ในปัจจัยร่วมนี่รวม “กายภาพถนน”

ไม่ควรมองข้าม” นี่ก็ยังคงต้องย้ำไว้!!

และเกี่ยวกับเรื่องนี้ประเด็นนี้ ทาง นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ในฐานะผู้จัดการ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ได้เคยสะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ โดยสังเขปมีว่า… “อุบัติเหตุทางถนน” โดยรวม ๆ แล้วมีหลายสาเหตุหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นได้ โดยหลายสาเหตุหรือหลายปัจจัยนี้ก็ มีทั้ง “ปัจจัยหลัก” และ ปัจจัยร่วม”

ทางผู้สันทัดกรณีท่านดังกล่าวได้ระบุแจกแจงไว้ว่า… อุบัติเหตุบนท้องถนน” ที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนใหญ่แล้วหลายคนอาจจะมองว่า…เกิดจาก “พฤติกรรมขับขี่” เป็นสาเหตุสำคัญ ทั้งเรื่องการขับรถด้วยความเร็ว, การไม่เคารพกฎจราจร, การเมาแล้วขับ หรือเกิดจากการประมาทเลินเล่อ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า… คนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากถึง 95% อย่างไรก็ตาม แต่การเกิดอุบัติเหตุทางถนนหลาย ๆ กรณีก็ยัง มีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเป็นองค์ประกอบร่วมด้วยโดยที่เรื่องของ“กายภาพถนน” นั้นก็เป็นเรื่องที่ “ไม่ควรมองข้าม”เช่นกัน …ซึ่งนี่ก็ถือเป็น “จำเลยร่วม” การ “ก่อความไม่ปลอดภัย!!”

สภาพถนน” ในประเทศไทยถือว่า “เป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้สูงถึงกว่า 28% หรือราว 1 ใน 4 ของสาเหตุที่ทำให้มีการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน!!” โดยเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีปัจจัยในลักษณะนี้ขึ้นแล้ว…ถ้าหากเป็น “กรณีในต่างประเทศ” ที่พบสาเหตุว่า เกิดจากความบกพร่องของถนน กรณีเช่นนี้ทาง “เจ้าทุกข์ผู้เสียหาย” ก็สามารถจะ “ฟ้องร้องได้ยกพวง” ตั้งแต่ “ผู้รับเหมาผู้คุมงานผู้ตรวจรับงาน” ในการทำถนนเพราะถือว่าเป็น “ความรับผิดชอบโดยตรง” แต่การฟ้องร้องเช่นนี้ เมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้ว… ในประเทศไทยยังมีการฟ้องร้องน้อยมาก

สำหรับสาเหตุที่ในไทยมีคดีลักษณะนี้น้อยมากนั้น ทาง นพ.ธนะพงศ์ ก็ได้เคยสะท้อนไว้ว่า… เพราะในประเทศไทยนั้น เวลาที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นส่วนใหญ่ก็มักจะ โทษผู้ขับขี่ ว่า… ประมาท ซึ่งบางทีก็ส่งผลทำให้“ปัจจัยร่วมอื่น ๆ”ที่อาจมีส่วนในการทำให้เกิดอุบัติเหตุ “มักจะถูกมองข้ามมักจะถูกตัดตอนไป” จนทำให้ ไม่มีการตรวจสอบ หรือ ไม่เกิดกระบวนการสืบสวนหาข้อเท็จจริง ที่เป็น “เบื้องหลังอุบัติเหตุ” …ซึ่งประเทศไทยก็ “ควรต้องทบทวนวิธีคิดใหม่” เกี่ยวกับกรณีนี้…

อีกเรื่องก็คือในประเทศไทยไม่ค่อยมีการวิเคราะห์อุบัติเหตุแบบลงลึก ด้วยการนำหลักวิชาการและเทคโนโลยีมาใช้พิสูจน์ รวมไปถึงการนำผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมตรวจสอบอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด ทำให้บางทีเรื่องก็เงียบหายไป โดยที่สังคมก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแท้ที่จริงแล้วอุบัติเหตุนั้นเกิดจากคนหรือสภาพถนนกันแน่??”

ทั้งนี้ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ยังเคยชี้ไว้ว่า… ผลจากการที่ไม่ได้มีการพิสูจน์ลงลึก…ก็ทำให้ปัญหาที่มีอยู่นั้นไม่ได้รับการปรับปรุงหรือแก้ไขให้ดีขึ้น ทำให้ ถนนบางเส้นมักจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นซ้ำ ๆ เป็นประจำ เพราะสาเหตุได้ถูกยกให้เป็น “คนความประมาทของคน” ไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วก็ต้องยอมรับว่า กายภาพถนนมาตรฐานถนน” ก็ถือว่า “เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน” ซึ่งพบได้ทั้ง ถนนท้องถิ่น ถนนเมือง ถนนหลวง ที่ในไทยต่างก็เจอกับปัญหานี้ได้ทั้งสิ้น

ถนนที่เกิดปัญหานี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้มีผู้รับเหมาหลายเจ้าเข้ามารับผิดชอบ ประกอบกับอาจจะขาดคุณภาพและมาตรฐานในการก่อสร้าง ทำให้ถนนที่สร้างขึ้นเกิดปัญหา ทั้งที่เพิ่งจะทำเสร็จไปได้ไม่นาน”…ทางผู้สันทัดกรณีท่านเดิมระบุไว้ โดยชี้ไว้ถึงอีกสาเหตุ “ถนนไม่ปลอดภัย” ที่ก็พบบ่อย

และผู้เชี่ยวชาญ ศวปถ. ก็ยังระบุไว้ด้วยว่า… การสร้างถนนของหน่วยงานต่าง ๆ จริง ๆ ก็มี “มาตรฐานการก่อสร้างถนน” กำหนดอยู่ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับต่างประเทศ แต่ก็เกิด “คำถาม” ที่ว่า… ถ้าไทยใช้มาตรฐานเดียวกับต่างประเทศเหตุใดยังเกิดปัญหาขึ้นบ่อย??”…ซึ่งอาจจำเป็น “ต้องทบทวนมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องถนน” …ซึ่งก็น่าคิดว่า…

ไทย “ทบทวนเรื่องถนนบ้างหรือไม่??”

ไฉน “ถนนอันตรายเซ็งแซ่ไม่เลิก??”

ไม่ปลอดภัย “ในเมืองหลวงก็ยังมี!!”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์