นายหวัง ชายแดนมังกรวัย 60 ปี ที่อาศัยอยู่กับครอบครัวในเจ้อเจียง ประเทศจีน ต้องเข้ารับการผ่าตัดถึง 7 ครั้ง เนื่องจากดื่มชาผิดวิธี

เขาชอบดื่มชาหลังเกษียณ เนื่องจากแพทย์เตือนว่าไขมันในเลือดของเขาสูงเล็กน้อย ทำให้เขาดื่มชามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเชื่อว่าชาช่วยลดไขมันในเลือด ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง มีผลดีต่อสุขภาพมากมาย

แต่ใครจะไปคิดว่า การดื่มชาทำให้เขาต้องเข้ารับการผ่าตัดถึง 7 ครั้ง โดยเฉพาะการผ่าตัดเอาตับออกครึ่งหนึ่ง

เขามักมีอาการปวดท้องน้อย เหนื่อยล้า และเบื่ออาหาร จากนั้นอาการปวดท้องก็รุนแรงขึ้น พร้อมกับมีไข้สูง ทำให้ต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล และตรวจพบว่ามีนิ่วในท่อน้ำดี และในตับ ร่วมกับท่อน้ำดีอุดกั้นเฉียบพลัน

แพทย์กล่าวว่า “อาการของผู้ป่วยมีความซับซ้อนเป็นพิเศษ นิ่วไม่เพียงแต่กระจายอยู่ในท่อน้ำดีนอกตับเท่านั้น แต่ยังแพร่กระจายไปยังท่อน้ำดีในตับด้วย แต่ละครั้งที่เกิดนิ่ว จะมีอาการปวดท้องรุนแรง ท้องอืด มีไข้สูง และหนาวสั่นร่วมด้วย”

อาการป่วยครั้งนี้ทำให้นายหวังต้องผ่าตัดถึง 7 ครั้ง ได้แก่ การผ่าตัดถุงน้ำดี การผ่าตัดลิโธทริปซีท่อน้ำดีทั่วไป การผ่าตัดลำไส้เล็กส่วนต้น และการผ่าตัดตับซีกซ้าย โชคดีที่การผ่าตัดประสบผลสำเร็จ และอาการของเขาก็ค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ

จริง ๆ แล้ว “ชา” เป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ ถ้าเราดื่มในปริมาณที่เหมาะสม แต่ในกรณีของนายหวัง เขาทำ 3 ใน 4 ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยที่สุดเวลาดื่มชา ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย

4 ข้อห้ามในการดื่มชาที่ทำให้เจ็บป่วย

  1. ดื่มชาผิดเวลา เช่น เมื่อหิว หลังทานอาหาร ก่อนนอน
  2. ดื่มชามากเกินไป ประหนึ่งดื่มชาแทนน้ำ
  3. ดื่มชาที่เข้มข้นเกินไป
  4. ดื่มชาที่ร้อนเกินไป อุณหภูมิเกิน 60 องศาเซลเซียส

คุณหวังทำผิดพลาดใน 3 ข้อแรก เป็นเวลานานหลายปีพร้อม ๆ กัน นำไปสู่ปัญหาที่นิ่วและตับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาเชื่อว่าชามีสารหลายชนิดที่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้นเขาจึงดื่มชาเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเชื่อว่าจะช่วยลดไขมันในเลือดได้มากขึ้น เขาดื่มชาหลายครั้งในระหว่างวัน โดยเฉพาะหลังอาหารเย็น

ในชาเข้มข้นมีกาเฟอีนและธีโอฟิลลีนระดับสูง การดื่มมากเกินไปเป็นเวลานาน จะกระตุ้นการหลั่งน้ำดี และเพิ่มภาระให้กับระบบทางเดินน้ำดี ทำให้เป็นนิ่วในถุงน้ำดี อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคนิ่ว นิ่วในไต นิ่วในกระเพาะอาหาร

การดื่มชาที่เข้มข้นมากเกินไป อาจเป็นอันตรายต่อตับ เพิ่มภาระให้กับตับ เนื่องจากต้องเผาผลาญกาเฟอีนสูง ทำให้เกิดความเสียหายเมื่อเวลาผ่านไป การบริโภคโพลีฟีนอล (สารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติที่ได้จากชา) มากเกินไป อาจทำให้เกิดการอักเสบ หรือเป็นพิษต่อตับได้

และไม่ควรดื่มชาทันทีหลังรับประทานอาหาร เพราะจะทำให้อาหารไม่ย่อย ขัดขวางการดูดซึมสารอาหาร (โดยเฉพาะธาตุเหล็กและโปรตีน) เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นกรดไหลย้อน ทางที่ดีควรดื่มชาที่ไม่เข้มเกินไปหลังอาหาร 30-60 นาที ห้ามดื่มชาที่ร้อนเกิน 60 องศาเซลเซียส เพราะจะทำให้เกิดแผลไหม้ และเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งหลอดอาหารและกระเพาะอาหารได้.

ที่มาและภาพ: Sohu, Family Doctor