เมื่อวันที่  28 ก.ย. 2567 นายโสภณ ซารัมย์  สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะประธานกรรมาธิการ(กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร  กล่าวว่า  ตนได้ลงพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ดูการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนขนาดเล็ก 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนบ้านศึกษา  มีนักเรียน 28 คนโรงเรียนบ้านสระคต  มีนักเรียน 20 คน และโรงเรียนบ้านสวายสอ  มีนักเรียน 32 คน พบว่าคุณภาพของทั้ง 3 โรงเรียนไม่ได้ด้อยกว่าโรงเรียนในเมืองแต่อย่างใด นักเรียนตั้งแต่ชั้น ป. 1 ขึ้นไปสามารถอ่านออก เขียนได้ ทุกโรงเรียนและจากการพบปะผู้ปกครองบอกว่า ไม่อยากให้ยุบโรงเรียน เพราะชาวบ้านสร้างโรงเรียนขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรง และบูรณะด้วยเงินผ้าป่ามาตลอด นอกจากงบประมาณทางราชการที่ได้มา และยังทราบว่าการส่งบุตรหลานไปเรียนในเมืองต้องมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท/เดือน โดยนักเรียนที่มาโรงเรียนในหมู่บ้านจะได้เงินมาโรงเรียนคนละ 20 บาทเท่านั้น จึงทำให้เห็นว่าการที่ผู้ปกครองส่งบุตรหลานไปเรียนในเมืองจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ปกครองอย่างมาก และยังเป็นปัญหาสังคมในเรื่องยาเสพติด และที่สำคัญเด็กในระดับประถม ส่วนหนึ่งขาดความอบอุ่นยังไม่พร้อมที่จะต้องออกไปเผชิญกับโรคภายนอก ขณะที่ผู้ปกครองส่วนหนึ่งแจ้งว่าเด็กที่ไปเรียนในเมือง บางทีกลับมามีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในทางลบ ซึ่งเป็นเสียงสะท้อนของผู้ปกครองทั้ง 3 แห่ง เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 ประธาน กมธ.การศึกษา  กล่าวต่อว่า   ในส่วนปัญหาการจัดการศึกษาของครูก็คือ ครูสอนไม่ตรงสาขาที่เรียนมา การเรียนร่วมกันของเด็กสองชั้น การทำงานธุรการอื่น แต่ครูยืนยันว่ามีความสุขกับการทำงาน  แต่ขอให้มีผู้บริหารกับนักการในสถานศึกษานั้นก็เพียงพอ ซึ่งเป็นเสียงขอร้องจากครู ซึ่งทาง กมธ.การศึกษา ได้อธิบายแนวทางการแก้ไขปัญหาการจัดการการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก จะต้องบูรณาการกันเป็นกลุ่มโรงเรียน เพื่อใช้งบประมาณ และบุคลากรร่วมกัน โดยมีองค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นพี่เลี้ยงอีกทางหนึ่ง

นายโสภณ กล่าวว่า นอกจากนีัตนได้รับการยืนยันจากผู้บริหาร อปท. ในเรื่องการรับถ่ายโอนเด็กปฐมวัยไปให้ท้องถิ่นดูแลการศึกษา  โดยทางท้องถิ่นยืนยันว่ามีความพร้อมและเต็มใจในภารกิจนี้เป็นอย่างยิ่ง  ดังรั้น ทาง กมธ.การศึกษา จะได้สรุปแนวทาง ประกอบจัดทำร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และเสนอฝ่ายบริหารต่างๆ ที่รับฟังต่อไป.