จากกรณี นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอาจทำให้โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งต้องถอนตัวจากการเป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม หลังจากที่ถูกปรับลดงบค่ารักษาในกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงลงถึง 40% โดยลดลงจาก 12,000 บาทต่อหน่วย Adjusted RW เหลือเพียง 7,200 บาทต่อหน่วย นอกจากนี้ยังไม่ได้มีการปรับค่าบริการเป็นเวลากว่า 5 ปี ทำให้มีผลกระทบโดยตรงต่อโรงพยาบาลเอกชน และผู้ประกันตนที่อาจต้องเผชิญกับภาวะข้าถึงบริการรักษาพยาบาลที่สะดวก โดยมีข้อเสนอให้มีการพิจารณา ค่ารักษากลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ในอัตรา 15,000 บาทต่อหน่วย

ล่าสุด วันที่ 28 ก.ย. นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ยืนยันว่าเราไม่ได้ลดเงินค่าบริการการแพทย์ทั้งในส่วนของผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก เรามีเงินเพิ่มให้ตามสิทธิ์ที่จะได้รับประโยชน์ และยืนยันว่าทางโรงพยาบาลได้รับสิทธิประโยชน์ที่ดีกว่าทุกสิทธิ์ด้วยซ้ำ โดยขณะนี้อัตราการจ่ายอยู่ที่ราวๆ 12,000 บาท แต่เป็นตัวเลขนี้มาหลายปีแล้ว ส่วนกรณีที่มีการเรียกร้องให้เพิ่มเป็นประมาณ 15,000 บาทนั้นจะต้องมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาทบทวน

เมื่อถามว่า มีแนวโน้มเพิ่มให้ตามที่มีการเรียกร้องในเร็วๆ นี้หรือไม่ นายบุญสงค์ กล่าวว่า ยังไม่ได้ จะต้องให้อนุกรรมการร่วม ที่ประกอบไปด้วย ฝ่ายรัฐและฝ่ายเอกชน กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานประกันสังคม โดยคณะกรรมการการแพทย์ (บอร์ดแพทย์) มานั่งพิจารณาทบทวนกันก่อน

เมื่อถามว่าจะมีการพูดคุย ทำความเข้าใจกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนหรือไม่ นายบุญสงค์ กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกันอยู่ ต่อเนื่องอยู่แล้วไม่ได้มีการเคลียร์อะไรเพิ่มเติม เพราะเราคุยกับทางนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนและสมาชิกโรงพยาบาลเอกชน ตลอดเวลาอยู่แล้ว

ด้านแหล่งข่าวจากสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า เป็นประเด็นที่ต้องรีบดำเนินการพูดคุยกัน ล่าสุดเลขาธิการ ประกันสังคมได้ประสานมาว่า จะมีการประชุมหารือร่วมกันในสัปดาห์หน้าว่าจะมีข้อสรุปอย่างไร ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนอื่นๆยังรอดูว่าจะออกมาเป็นอย่างไร เบื้องต้นข้อเสนอของสมาคมคือจะต้องดูว่าการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์อันไหนที่ไม่ได้มีการปรับเพิ่มมานานแล้วก็ควรจะต้องปรับ เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกันตนก็มีอายุสูงขึ้นมี การเจ็บป่วยโรคเรื้อรัง กรณีโรคโรคซ้ำซ้อนรุนแรง ต่างๆ เพราะอัตราการจ่ายเงินให้กับโรงพยาบาลเอกชนของสำนักงานประกันสังคมนั้นไม่ได้มีการปรับมาเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว ในขณะที่อัตราการเข้าใช้บริการเพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนกรณีเลขาธิการประกันสังคม จะพ้นจากตำแหน่งเลขาเพื่อไปดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวงแรงงานก็ไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ เนื่องจากตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงานก็จะดูแลหน่วยงานในสังกัด ทุกหน่วยงานอยู่แล้วรวมถึงสำนักงานประกันสังคมด้วย