เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ศูนย์โรคหัวใจ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, สาขาวิชาอายุรศาสตร์หัวใจและหลอดเลือด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, MDCU MedUMore คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันสนับสนุนการเป็นสถาบันต้นแบบทางการแพทย์และถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งในและต่างประเทศนำเสนอนวัตกรรมการเรียนรู้ออนไลน์ MedUMore หลักสูตรนวัตกรรมการรักษา TAVI (Transcatheter Aortic Valve Implantation)  หรือการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด หลักสูตรแรกของประเทศไทย

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 12 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 6 ของประชากรไทย ถือเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียนรองจากสิงคโปร์ โดยโรคหัวใจเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต โดยเฉพาะผู้สูงอายุไทย กว่า 400,000 คน อาจมีความเสี่ยงที่ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ ซึ่งต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม รพ.จุฬาฯ ได้เปิดตัวโครงการ “นวัตกรรมการเรียนรู้แห่งอนาคต เปิดทางสู่ความเป็นเลิศในการรักษาโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ ซึ่งจะมีการพัฒนาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและสนับสนุนทีมงานในการรักษาผ่านแพลตฟอร์ม MedUMore TAVI  รับมือกับความท้าทายของโรคหัวใจในปัจจุบันและอนาคต ต่อไป

ด้าน รศ.นพ.สุพจน์ ศรีมหาโชตะ หัวหน้าหน่วยอายุรศาสตร์หัวใจและหลอดเลือด ฝ่ายอายุรศาสตร์ รพ.จุฬาฯ กล่าวว่า โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น หลีกเลี่ยงยากเพราะโรคนี้เกิดจากการสึกหรอของลิ้นหัวใจตามธรรมชาติ โดยเฉพาะคนอายุ 75 ปีขึ้นไป พบป่วยถึง 12.4% และ 3.4% เสี่ยงป่วยขั้นรุนแรง หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพและชีวิตในระยะเวลา 2-5 ปี แต่ปัจจุบันพบว่ามีเพียง 47% ที่ได้รับการวินิจฉัยหรือการรักษา ดังนั้น ศูนย์โรคหัวใจ รพ.จุฬาฯ จึงมุ่งมั่นเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงที โดยนวัตกรรมการรักษาโรคหัวใจ TAVI เป็นการรักษาที่ซับซ้อนและต้องการความร่วมมือจากทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญจากหลายสาขา ดังนั้นการพัฒนาบทเรียนออนไลน์ TAVI หลักสูตรแรกของประเทศไทย ร่วมกับแพลตฟอร์มการเรียนรู้ MedUMore คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการรักษาโรคดังกล่าว

อ.ดร.นพ.วศิน พุทธารี ผู้ริเริ่มโครงการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบโดยไม่ต้องผ่าตัด และผู้รับผิดชอบหลักสูตร TAVI สำหรับ MedUMore คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การทำหัตถการ TAVI  ซับซ้อน เป็นนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและต้องอาศัยทักษะเฉพาะทางที่หลากหลาย ดังนั้นทีมบุคลากรที่ร่วมกันทำหัตถการนี้ต้องมีความรู้ที่ลึกซึ้งและมีประสบการณ์จริง และทบทวนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการเรียนการสอน TAVI ภายใต้แพลตฟอร์ม MedUMore  มีระบบ 3D simulation จึงมีบทบาทอย่างมาก นับเป็นหลักสูตรแรกของไทย เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการฝึกอบรม เพื่อให้แพทย์จากทุกภูมิภาคสามารถเข้าถึงความรู้และการฝึกฝนที่ทันสมัยได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน  

ภญ.สุชาดา ธนาวิบูลเศรษฐ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า  การทำหัตถการ TAVI นวัตกรรมการรักษาโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ช่วยลดความเสี่ยง ฟื้นตัวเร็ว และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงในการผ่าตัดแบบดั้งเดิม เนื่องจากเป็นหัตถการที่ซับซ้อนและต้องการการทำงานเป็นทีมของหลายฝ่าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายการแถลงข่าว ทีมศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลว่า ได้พัฒนาความพร้อมในการรักษาคนไข้โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ เช่น การรักษาเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบผ่านสายสวน (TAVI) มากว่า 15 ปี รักษาผู้ป่วยแล้วกว่า 300 ราย ซึ่งเป็นวิธีที่ลดความเสี่ยง ลดระยะเวลาการพักฟื้น ช่วยคืนชีวิตที่มีคุณภาพให้กับผู้ป่วย ให้พวกเขาสามารถกลับมาใช้ชีวิตกับครอบครัวได้อย่างมีความสุข รวมถึงให้การรักษาผู้ป่วยที่มีความจำเป็นและยังขาดทุนทรัพย์ ผ่านโครงการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกโดยไม่ต้องผ่าตัดกว่า 30-40 รายต่อปี คิดเป็น 60% ของผู้ป่วยที่ต้องการการสนับสนุนทางด้านทุนทรัพย์ ทั้งนี้ประชาชนสามารถร่วมสนับสนุนโดยการร่วมสมทบทุนผ่าน E-Donation บัญชี ฬ. จุฬา สะพานบุญ หรือผ่านบัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (ฬ. จุฬา สะพานบุญ) เลขที่บัญชี 059-1-93894-0 โทรสอบถามเพิ่มเติมโทร. 02-251-7804