เมื่อวันที่ 25 ก.ย. นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 (ประธานบอร์ดค่าจ้าง หรือ ไตรภาคี) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดประชุมคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคี ว่า ขณะนี้นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ซึ่งจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย. นี้ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากกรรมการค่าจ้างแล้ว เพื่อแสดงสปิริตเมื่อพ้นจากสถานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนจะเรียกประชุมบอร์ดค่าจ้างภายในเดือนนี้หรือไม่นั้น คณะกรรมการต้องพร้อมตรงกัน ขณะเดียวกันอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ยื่นลาออกแล้ว จึงไม่สามารถเชิญประชุมภายใน 30 ก.ย.นี้ได้ และหลังจากนี้จะเป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่ที่จะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 1 ต.ค. นี้ ทำหน้าที่ประธานบอร์ดค่าจ้างเพื่อขับเคลื่อนการพิจารณาค่าจ้างต่อไป ส่วนหนังสือยืนยันจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ล่าสุดตอบกลับมาแล้วว่าเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล มีวาระทำงาน 2 ปีตามมติ ครม. ที่เป็นตัวแทนของรัฐบาล โดยไม่เกี่ยวข้องกับแบงก์ชาติ

ส่วนที่มีการเผยแพร่ข่าวว่า กระทรวงแรงงานเสนอ ครม. แต่งตั้งนายเมธี สุภาพงษ์ เป็นคณะกรรมการค่าจ้าง ฝ่ายรัฐบาล เป็นการเสนอแต่งตั้งโดยระบุเพียงชื่อบุคคลนั้น นายไพโรจน์ กล่าวว่า ต้องดูหนังสือต้นเรื่องจากแบงก์ชาติ ที่ ธปท.1325/2565 ลงวันที่ 29 พ.ย. 2565 มอบหมายให้นายเมธี สุภาพงษ์ ตำแหน่ง รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพทางการเงิน เป็นผู้แทนในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ซึ่งหนังสือยืนยันระบุชื่อ และตำแหน่ง ฉะนั้นเมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว ก็ควรแสดงสปิริตลาออก เพื่อความสง่างาม เช่น บอร์ดประกันสังคม ซึ่งมีตัวแทนจากกระทรวงการคลัง แม้ว่าวาระทำงาน 2 ปี แต่โดยภาระหน้าที่ในการเป็นตัวแทนของหน่วยงานภาครัฐสิ้นสุดลง ก็มีการลาออก ซึ่งเป็นตัวอย่างหรือการแสดงสปิริตของข้าราชการ เมื่อหมดสถานะการเป็นข้าราชการเป็นเจ้าหน้าที่ของภาครัฐแล้ว ก็ควรลาออก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ในส่วนของอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานนั้น ถือเป็นคณะกรรมการค่าจ้างโดยตำแหน่ง ซึ่งปัจจุบันมี นางโสภา เกียรตินิรชา เป็นอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 5 วัน (รวมถึงวันเสาร์ อาทิตย์) ก็จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย. ก็จะถือว่าพ้นจากคณะกรรมการค่าจ้างเช่นกัน กลับพบว่า มีการยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นกรรมการบอร์ดก่อน.