เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษายกฟ้อง คดีที่นายชาญ พวงเพ็ชร์ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ฟ้องเพิกถอนคำสั่งที่ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปทุมธานี กรณีการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายขององค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 โดยศาลเห็นว่า คำสั่ง อบจ.ที่ 02390/2564 ลงวันที่ 8 ธ.ค. 2564 ที่ให้ผู้ฟ้องที่ 1 ชดใช้ความเสียหายในอัตราร้อยละ 50 ของความเสียหายจากการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย 8 รายการ รวม 7 สัญญา ซึ่งลงนามโดยผู้ฟ้องที่ 1 โดยที่ไม่มีการสืบราคาท้องตลาด เปิดแข่งขัน ทำให้ต้องซื้อในราคาสูง เงิน 33,657,049.92 บาท ทาง อบจ. จึงใช้สิทธิเรียกชดใช้ค่าเสียหายจากผู้ฟ้องที่ 1 อัตราร้อยละ 50 เป็นเงิน 15,535,966 บาท และให้ผู้ฟ้องคดี 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในอัตราร้อยละ 15 ของความเสียหายเป็นเงิน 2,330,394.90 บาท  เป็นการกำหนดความเสียหายและสัดส่วนความรับผิดที่เหมาะสมและเป็นคุณแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 มากแล้ว จึงพิพากษายกฟ้อง

สำหรับรายละเอียก ศาลระบุว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องจากการที่นายก อบจ.ปทุมธานี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ได้มีคำสั่ง อบจ.ปทุมธานี ที่ 02390/2564 ลงวันที่ 8 ธ.ค. 2564 ให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ อบจ.ปทุมธานี กรณีการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายของ อบจ.ปทุมธานี ระหว่างปีงบประมาณ 2555 ถึงปีงบฯ พ.ศ. 2556 ในราคาที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 เห็นว่า คำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ข้างต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล

ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่า ในปีงบฯ 2555 ถึงปีงบฯ 2556 ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้อนุมัติสั่งซื้อเครื่องออกกำลังกายตามรายงานขออนุมัติจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายตามโครงการส่งเสริมสุขภาพที่ดีของประชาชนจังหวัดปทุมธานี จำนวน 7 ครั้ง โดยไม่ได้มีการสั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำการสืบราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดจากเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการหรือผู้มีอาชีพจำหน่ายเครื่องออกกำลังกายนั้นมาวิเคราะห์และกำหนดเป็นราคาอ้างอิง แล้วนำผลการสืบราคาดังกล่าวมาประกอบการพิจารณากำหนดประมาณการราคาในการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายของ อบจ.ปทุมธานี เป็นเหตุให้ประมาณการราคาในการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายตามโครงการดังกล่าวสูงกว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด

ซึ่งหากผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของ อบจ.ปทุมธานี และเป็นผู้มีอำนาจสั่งซื้อตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 ประกอบกับข้อ 5 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุพิพาท ได้ควบคุมตรวจสอบกระบวนการและขั้นตอนในการจัดซื้อ ตลอดจนพิจารณารายงานขออนุมัติจัดซื้อในแต่ละโครงการที่ผู้ใต้บังคับบัญชาเสนอมาด้วยความละเอียดรอบคอบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบข้างต้นแล้ว ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ย่อมจะตรวจพบได้ว่า การจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายตามรายงานขออนุมัติจัดซื้อตามโครงการดังกล่าวยังไม่ได้ทำการสืบราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด เนื่องจากในรายงานขออนุมัติจัดซื้อนั้น ระบุเพียงว่า เป็นครุภัณฑ์ที่ไม่มีกำหนดไว้ในบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ ตั้งงบประมาณตามราคาท้องถิ่น โดยไม่ปรากฏรายละเอียดของการสืบราคาหรือที่มาของประมาณการราคาในรายงานขออนุมัติจัดซื้อหรือเอกสารหลักฐานประกอบรายงานขออนุมัติจัดซื้อ อันถือเป็นสาระสำคัญในการจัดซื้อพัสดุตามระเบียบดังกล่าวแต่อย่างใด

การที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ลงนามอนุมัติในรายงานขออนุมัติจัดซื้อที่ผู้ใต้บังคับบัญชาเสนอมาโดยไม่ได้ทักท้วงใด ๆ เป็นเหตุให้ประมาณการราคาในการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายสูงกว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด การกระทำของผู้ฟ้องคดีที่ 1 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากความรอบคอบระมัดระวังที่เบี่ยงเบนไปจากวิสัยของผู้มีอำนาจอนุญาตสั่งซื้ออย่างมาก และเป็นการไม่ดูแลรักษาผลประโยชน์ของทางราชการตามตำแหน่งที่ตนดำรงอยู่อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อ 20 วรรคหนึ่ง (3) ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุพิพาท พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้ อบจ.ปทุมธานี ได้รับความเสียหายที่ต้องจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายตามโครงการดังกล่าวในราคาที่สูงกว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด อันเป็นการกระทำละเมิดต่อ อบจ.ปทุมธานี ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ อบจ.ปทุมธานี ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

และเมื่อรวมความเสียหายที่อบจ.ปทุมธานีได้รับจากการประมาณการราคาในการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายตามโครงการดังกล่าว คำนวณเฉพาะรายการเครื่องออกกำลังกาย จำนวน 8 อุปกรณ์ ที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ลงนามอนุมัติจัดซื้อ จำนวน 7 สัญญา สูงกว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด คิดเป็นเงิน 33,657,049.92 บาท แต่อย่างไรก็ดี เมื่อ อบจ.ปทุมธานี ได้ใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายกรณีดังกล่าวจากผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นเงิน 31,071,932 บาท ศาลจึงไม่อาจวินิจฉัยเกินกว่าความเสียหายที่ อบจ.ปทุมธานี ใช้สิทธิเรียกร้องได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายตามโครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่สมาชิก อบจ.ปทุมธานี เสนอต่อ อบจ.ปทุมธานี เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและปรับปรุงคุณภาพชีวิตในด้านต่าง ๆ อันเป็นโครงการที่มาจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งอุปกรณ์ก็ยังอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้เป็นอย่างดีเมื่อเทียบกับระยะเวลานับตั้งแต่วันที่มีการติดตั้งเครื่อง จนถึงวันที่มีการตรวจสอบ เมื่อพิจารณาระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมในกรณีดังกล่าวแล้วเห็นว่า การที่ อบจ.ปทุมธานี มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ อบจ.ปทุมธานี ในอัตราร้อยละ 50 ของความเสียหายในส่วนที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นผู้ลงนามอนุมัติจัดซื้อ จำนวน 7 สัญญา คิดเป็นเงินจำนวน 15,535,966 บาท และให้ผู้ฟ้องคดี 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในอัตราร้อยละ 15 ของความเสียหายดังกล่าว คิดเป็นเงินจำนวน 2,330,394.90 บาท จึงเป็นการกำหนดความเสียหายและสัดส่วนความรับผิดที่เหมาะสมและเป็นคุณแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 มากแล้ว

ดังนั้น คำสั่ง อบจ.ปทุมธานี ที่ 02390/2564 ลงวันที่ 8 ธ.ค. 2564 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ อบจ.ปทุมธานี เป็นเงินจำนวน 2,330,394.89 บาท จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 โดยอาศัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเดียวกัน ซึ่งได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ทราบตามหนังสือลับมาก ที่ ปท 51001/013 ลงวันที่ 24 ก.พ. 2565 จึงชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน พิพากษายกฟ้อง.