สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงมาดริด ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ว่าแผนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนของสเปน ซึ่งคณะรัฐมนตรีทำการรับรอง และถูกส่งต่อให้คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) รับทราบ กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับระดับเมื่อปี 2533 และเพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิมเมื่อปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 23

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลให้คำมั่นว่า จะเร่งสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน “จากแหล่งสีเขียว” ให้ได้ร้อยละ 81 ภายในสิ้นทศวรรษนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเป้าหมายปี 2564 ที่ร้อยละ 74

นางเทเรซา ริเบรา รมว.กระทรวงนิเวศวิทยาของสเปน กล่าวว่า “นี่คือเป้าหมายซึ่งเชื่อว่าจะทำสำเร็จได้” โดยจะสามารถทำได้หากมีการเพิ่มขึ้นของแสงอาทิตย์และลม ซึ่งเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และเธอระบุว่า แผนการนี้จะช่วยลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะลดลงจากร้อยละ 61 ในปัจจุบัน เหลือร้อยละ 50 ภายในสิ้นทศวรรษนี้

สเปนทุ่มลงทุนในฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์และลม ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองที่มีประชากรเบาบาง เพื่อใช้ประโยชน์จากแสงแดดที่สม่ำเสมอของคาบสมุทรไอบีเรีย และกระแสลมแรง

ในปี 2566 สเปนผลิตไฟฟ้ามากกว่าครึ่ง จากแหล่งพลังงานหมุนเวียนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยร้อยละ 23 มาจากพลังงานลม และร้อยละ 14 มาจากแสงอาทิตย์

แผนดังกล่าวยังเพิ่มเป้าหมาย “ไฮโดรเจนสีเขียว” ซึ่งมาจากแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียน ตรงข้ามกับ “ไฮโดรเจนสีเทา” ที่ได้มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยไม่มีการดักจับคาร์บอน

โดยรวม แผนดังกล่าวมุ่งไปที่การผลิต “เครื่องอิเล็กโทรไลเซอร์” เพื่อสร้างพลังงานไฟฟ้า 12 กิกะวัตต์ ด้วยการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว จากที่เคยวางแผนผลิตเพียง 4 กิกะวัตต์

รัฐบาลสเปนตั้งเป้าหมายเริ่มส่งออกก๊าซผ่านท่อส่ง ที่เชื่อมระหว่างเมืองบาร์เซโลนา กับเมืองมาร์แซย์ ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ในปี 2573 ขณะที่ผู้สันทัดกรณีเชื่อว่า การผลิตในปริมาณมากมีความท้าทาย เนื่องจากต้นทุนสูง และขาดโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอ.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES