เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 67 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. … ซึ่งมีนายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ ในวาระสอง

สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไข คือ ยกเลิก (2) ของมาตรา 1567 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน “ทำโทษบุตรเพื่อสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรมโดยต้องไม่กระทำด้วยความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ ไม่เป็นการเฆี่ยนตี หรือการกระทำโดยมิชอบ อันเป็นการลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุตร”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกร่วมกันอภิปรายในการแก้ไขกฎหมายไม่ตีเด็ก มีความคิดเห็นแบ่งออกเป็นสองฝ่าย โดยพรรคประชาชนเห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว ส่วนฝ่ายรัฐบาลไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะ สส.พรรคเพื่อไทย และ สส.ภูมิใจไทย เห็นว่าการบัญญัติโดยใช้ถ้อยคำกำกวมจะยากต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ แต่ที่สำคัญเห็นว่าพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ รักลูกและลูกศิษย์ของตนเอง ไม่มีใครต้องการทำโทษรุนแรง การห้ามไม่ให้ตีเด็กถือเป็นการลิดรอนสิทธิในการดูแลบุตรหลาน 

นายนิพนธ์ คนขยัน สส.บึงกาฬ พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายว่า การทำโทษลูกตนเชื่อมั่นว่าพ่อ แม่ทุกคนรักลูก แต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่มีการตีลูกเลย ถ้าลูกดื้อหรือเกเรก็ตีไม่ได้เลยอย่างนี้ก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร และคนต่างจังหวัดที่ต้องมาทำงานในกรุงเทพฯ ลูกอยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย ไม่มีเงินที่จะเลี้ยงลูกแบบถูกสุขลักษณะ ถ้า พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกไป ใครจะกล้าตีลูก แม้แต่ครูก็ไม่กล้าตี เก็บไม้เรียวไปได้เลย ซึ่งตนก็เห็นใจแต่ทุกคนเกิดมาไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงอยากให้กรรมาธิการฯ นำกลับไปทบทวนใหม่ แล้วเสนอมาใหม่ เพื่อให้พ่อแม่มีทางออก และต้องการให้แยกให้ออกระหว่างการตีด้วยความรักกับการทารุณกรรม

น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย (ภท.) อภิปรายว่า เหตุใดต้องเขียนกฎหมายให้คลุมเครือ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติหาบรรทัดฐาน ใช้ดุลพินิจเอาเอง อีกทั้งเรามี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กอยู่แล้ว จึงอยากให้ กมธ. ถอนร่างแล้วนำกลับไปทำให้ชัดเจนขึ้น

ขณะที่ น.ส.พิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ สส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน (ปชน.) อภิปรายว่า การมีหลักประกันจากกฎหมายนี้ จะทำให้เด็กเติบโตได้อย่างอุ่นใจ ความรุนแรงมีความหมายในตัว และการส่งต่อความรุนแรงในรูปแบบความรักไม่เป็นประโยชน์ต่อใคร อย่างไรก็ตาม สำนวนที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” แปลว่า เราเห็นลูกหลานแย่ หรือมีค่าน้อยกว่าวัว กว่าควายหรือไม่ ในเมื่อวัวควายท่านบอกให้ผูก แต่ลูกหลานถึงขั้นตี เหตุใดไม่ปรับพฤติกรรมโดยการพูดคุยอย่างอ่อนโยน ให้เหตุผล ในเมื่อเชื่อว่าผู้ใหญ่มีวุฒิภาวะ เหตุใดไม่เรียนรู้ที่จะส่งต่อวิธีที่ถูกต้อง หรือวิธีที่ทำให้ลูกหลานรับรู้ว่าเป็นวิธีที่ผู้ใหญ่ห่วงใย

นางศศินันท์ ธรรมนิฐนันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน กล่าวว่า สภาผู้แทนราษฎรเคยผ่านกฎหมายป้องกันทารุณกรรมสัตว์แล้ว ทำไมเราถึงตั้งคำถามกับการคุ้มครองมนุษย์ด้วยกัน โดยเฉพาะเด็กที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ฝ่ายที่คัดค้านแล้วบอกว่าใช้คำคลุมเครือนั้น ในฐานะที่ตนเป็นทนายความ อยากบอกว่าทำให้กฎหมายชัดเจนละเอียดเท่าใด ไม่เปิดให้ใช้ดุลพินิจ อันตรายมากกว่า

“สมาชิกหลายคนบอกว่าการตีทำให้พวกท่านได้ดี ทำให้ได้เข้ามายืนในสภา ดิฉันก็อยากยืนยันว่าการที่ทุกคนได้เป็น สส. เป็นผู้เป็นคนได้ เพราะมาจากความรู้ความสามารถ อดทน ตั้งใจ ไม่ได้มาจากไม้เรียว ถ้าจะดูถูกตัวเองว่าไม้เรียวทำให้ได้ดี ท่านกำลังดูถูกความรู้ความสามารถความตั้งใจของตัวเองหรือเปล่า” นางศศินันท์ กล่าว

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ทาง กมธ.แก้ไขข้อความที่สภารับหลักการมา โดยตัดคำว่า “ทารุณกรรม” ออกไป เหลือเพียงคำว่า “ไม่เป็นการเฆี่ยนตี” สภาแห่งนี้จึงยอมไม่ได้ เพราะต้องการปกป้องสิทธิผู้ปกครอง แนวโน้มร่างกฎหมายฉบับนี้จึงจะถูกคว่ำ จึงอยากให้หาวิธีการดู สำหรับตนขอเสนอให้ กมธ. ถอนแล้วไปปรับปรุงตัวบทใหม่ เพื่อความสมดุลระหว่างสิทธิเด็กและสิทธิผู้ปกครอง คำกำกวมอย่างคำว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” สมาชิกหลายคนถามว่าเอาอะไรมาวัด และสิ่งนี้จะทำให้ลงโทษผู้ปกครองได้ ฉะนั้นขอให้ไปปรับมาใหม่

ด้านนายสรรพสิทธิ์ ชี้แจงว่า จากที่ฟังการอภิปรายสรุปได้ว่า สมาชิกอยากได้ไม้เรียวกลับมาให้ครู อีกทั้งต้องการให้พ่อแม่เฆี่ยนตีลูกได้ เพื่อว่ากล่าวสั่งสอน หากต้องการให้ทาง กมธ. ถอน ตนก็ยังไม่ทราบว่าจะแก้ไขอย่างไร กฎหมายฉบับนี้ไม่ไช่ห้ามพ่อแม่เฆี่ยนตีลูก เพราะมีกฎหมายอื่นที่ห้ามอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ประธานในที่ประชุมได้สั่งพักการประชุม  20 นาที เพื่อให้ตกลงกัน

โดยภายหลังพักการประชุม ประธาน กมธ.วิสามัญฯ แจ้งว่าทางคณะ กมธ. ขอถอนร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวออก ซึ่งที่ประชุมไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น จึงถือว่าอนุญาตให้ถอนร่างกฎหมายได้.