เมื่อวันที่ 25 ก.ย ที่หอประชุมวายุภักษ์โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ไลฟ์ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึง สถานการณ์น้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ว่าทางกรุงเทพมหานคร มีความมั่นใจหรือไม่ว่าจะไม่ซ้ำรอยกับปี 54 ทางกรุงเทพฯและกระทรวงมหาดไทยมีการประสานงานกันอย่างไรบ้าง ว่า จะเห็นได้ว่ามีฝนตกหนักต่อเนื่อง บางพื้นที่ก็มีน้ำท่วมขัง โดยเมื่อเช้านี้ได้มีการพบกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหาคร ได้แจ้งในส่วนของสถานการณ์น้ำที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งในส่วนที่ทางกรุงเทพฯได้มีความเตรียมการความพร้อมไว้นานแล้ว และพร้อมที่จะรับมือหากเกิดสถานการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้น แต่ก็อาจจะมีบางจุดเช่นเครื่องสูบน้ำ ที่ต้องมีการตรวจเช็ค เจ้าหน้าที่ประจำจุด ให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งก็ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังอย่างสูงสุด เพื่อที่จะป้องกันสถานการณ์น้ำท่วมไม่ให้เกิดขึ้น

น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวอีกว่า ส่วนความกังวลใจของประชาชนที่มองว่ามีน้ำจากพื้นที่ภาคเหนือไหลลงมาจะทำให้เกิดน้ำท่วมซ้ำรอยกับปี 54 หรือไม่นั้น ตนขอให้ความสบายใจ เพราะในขณะนี้กรุงเทพฯมีการเตรียมความพร้อมพอสมควร สามารถรับปริมาณเพิ่มน้ำได้ แต่คาดการณ์ว่าน้ำในขณะนี้จะไม่มากเท่ากับปี 54 นอกเสียจากว่าจะเกิดพายุลูกใหญ่เข้ามาหรือมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง เกินกว่า 24 ชั่วโมง ก็จะทำให้เกิดน้ำขังในพื้นที่กรุงเทพฯบ้าง แต่ก็จะเร่งระบายอย่างรวดเร็ว ซึ่งตนมั่นใจว่าในขณะที่ประชาชนมีความกังวล ทุกคนก็จะทำงานอย่างเต็มที่ไม่ให้มีปัญหาเกิดขึ้นอย่างที่ผ่านมา

เมื่อถามว่า ยืนยันได้หรือไม่ ว่ากรุงเทพฯจะรับมือกับสถานการณ์น้ำในขณะนี้ได้ น.ส.ธีรรัตน์กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมการทำงานอย่างต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพฯทั้ง 50 เขต ไม่ว่าจะเป็นการลอกท่อ โดยกรุงเทพฯร่วมกับกรมราชทัณฑ์ เพื่อให้เกิดร่องน้ำ รอรับน้ำอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจว่าบางพื้นที่ ก็เป็นพื้นที่แอ่งรับน้ำ ซึ่งอาจจะมีน้ำท่วมขังบ้าง แต่ก็จะพยายามระบายให้เร็วที่สุด

เมื่อถามว่า การแจ้งเตือนภัยโดยระบบข้อความที่เมื่อวาน (24 ก.ย.) ที่ผ่านมาได้มีการแจ้งเตือนภัยในพื้นที่เกิดเหตุอุทกภัย จ.ลำปาง ผ่าน SMS ไปแล้วนั้น ได้รับผลตอบรับกลับมาอย่างไรบ้าง น.ส.ธีรรัตน์กล่าวว่า เมื่อวานนี้เป็นวันแรก ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) และ operator ที่จะส่งข้อมูลเตือนภัยให้กับผู้ที่ประสบภัย ในช่วงเวลา 13.15 น. ที่จังหวัดลำปาง ซึ่งระบบเตือนภัย ที่แจ้งเตือน โดยคำนวณได้ว่าน้ำที่จะมาถึงมีปริมาณเท่าไหร่ และการเตือนอยู่ในระดับใด แต่ก็มีกระแสตอบกลับมาว่าอยากให้มีการแจ้งเตือน เป็นระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast แต่ทั้งนี้ขอชี้แจงว่าระบบแรกที่สามารถทำได้และเกิดขึ้นโดยเร็วคือการแจ้งเตือนผ่านระบบข้อความ ไปตามเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ต่างๆ ทั้งนี้เราได้รับงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2568 มาจัดทำซึ่งCell Broadcast จะสามารถใช้งานได้ภายในกลางปี 68 ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งจะเป็นระบบที่แม้กระทั่งเมื่อโทรศัพท์มือถือปิดอยู่ก็จะสามารถส่งการแจ้งเตือนไปยังประชาชนได้ทันที