สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏรายงานข่าวแจ้งว่า พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ในฐานะรองหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวนฯ ปฏิบัติราชการแทนหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 493/2566 ลงนามคำสั่งหนังสือลับด่วนที่สุด เรื่อง ขอทราบมติการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 10/2567 เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2567 และคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสรุปผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2566 รวมถึงคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ได้มีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล และพวก เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบการให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับรายงานจากแหล่งข่าวภายในสำนักงาน ปปง. ว่า สำหรับหลักการหากจะดำเนินคดีอาญาฟอกเงินแก่บุคคลใด จะต้องมีความผิดมูลฐานเกิดขึ้นก่อน และหากบุคคลใดมีพฤติการณ์จำหน่าย จ่าย โอนทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดในคดีมูลฐานก็อาจจะมีความผิดอาญาฐานฟอกเงินได้ อีกทั้งคดีอาญาฐานฟอกเงินถือเป็นคดีอาญาต่อแผ่นดิน เมื่อเป็นคดีอาญาต่อแผ่นดิน กระบวนการ คือ พนักงานสอบสวน หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินคดีอาญาได้ หรือในกรณีของสำนักงาน ปปง. ในฐานะที่มีอำนาจสืบสวนความผิดอาญาฐานฟอกเงิน หากพบพยานหลักฐาน ปปง. ก็สามารถไปกล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนได้ ฉะนั้น ปปง. จึงอยู่ระหว่างตรวจสอบว่าได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินหรือไม่ และการจะชี้ว่าทรัพย์สินที่มีการจำหน่าย จ่าย โอนไปนั้น เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดในคดีมูลฐานหรือไม่ ส่วนใหญ่จึงเป็นรายการทรัพย์สินที่เกิดจากคำสั่งยึดและอายัดโดยคณะกรรมการธุรกรรม เช่น เงินจากการเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตของรอง ผบ.ตร. จำนวนมูลค่าประมาณ 4.8 แสนบาท ดังนั้น หน่วยงานใดจะดำเนินการอย่างไรจึงขึ้นอยู่กับความพร้อมและความครบถ้วนของพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง 

ส่วนความคืบหน้ากรณีที่ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ รอง ผบ.ตร. ได้มีการยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์ของคณะกรรมการธุรการนั้น รายงานข่าว แจ้งว่า ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการตรวจสอบรายงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าเรื่องราวที่มีการยื่นคำร้องขอเพิกถอนเข้ามานั้นรับฟังได้หรือไม่ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ก็จะต้องประมวลเสนอส่งไปยังคณะกรรมการธุรกรรมตามขั้นตอนต่อไป นอกจากนี้ ทราบว่าทางคณะกรรมการธุรกรรม ยังไม่ได้มีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ และภรรยา เพิ่มเติมแต่อย่างใด

รายงานข่าว เผยด้วยว่า สำหรับคดีอาญาฐานฟอกเงิน หน่วยงานที่จะมีอำนาจดำเนินการสอบสวนได้นั้น จะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่ในส่วนของ ปปง. จะมีหน้าที่สืบสวน การที่ ปปง. จะไปกล่าวโทษบุคคลใดในข้อหาฟอกเงิน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะต้องดูว่าสิ่งที่ ปปง. กล่าวโทษนั้น มีอำนาจในการรวบรวม สอบสวน และดำเนินคดีกับบุคคลนั้นได้จริงหรือไม่ ทั้งนี้ การทำหนังสือสอบถามกระบวนการดำเนินงานของ ปปง. ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถทำได้ ซึ่ง ปปง. จะมีหน้าที่ในการตอบกลับประเด็นการดำเนินงานว่าได้ทำสิ่งใดไปแล้วบ้าง ถือเป็นขั้นตอนประสานการดำเนินงานปกติ รวมถึงคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์ของคณะกรรมการธุรกรรมก็ไม่ได้เป็นความลับ เพราะมีไว้สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสชี้แจง

รายงานข่าว ปิดท้ายว่า หาก ปปง. ได้ดำเนินการกล่าวโทษความผิดฐานฟอกเงินแก่ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยรายใด ในส่วนของกระบวนการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา บุคคลนั้นจะต้องไปแก้ข้อกล่าวหากับเจ้าหน้าที่ตำรวจเจ้าของสำนวนแทน แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการกับทรัพย์สิน หรือการยื่นคำร้องขอเพิกถอนการอายัดทรัพย์สิน ปปง. จึงจะเข้ามารับผิดชอบในเรื่องนี้ .