เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับจริยธรรมนักการเมือง ก็ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันว่า “เหมาะสมหรือไม่ ทำเพื่อนักการเมืองเท่านั้นหรือไม่” ต้องเข้าใจว่า “ไม่ใช่การยกเลิกประมวลจริยธรรม แต่แก้ไขให้ไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือประหัตถ์ประหารทางการเมือง ไม่ให้องค์กรอิสระใช้อำนาจแบบไร้ขีดจำกัด” .. ส่วนหนึ่งที่แก้คือส่วนของคุณสมบัติของรัฐมนตรี มาตรา 160 ในคำว่า “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” พรรคเพื่อไทยได้ยื่นร่างแก้ไขไปแล้ว

โจทย์ในการแก้มี 2 อย่าง คือ “แก้รายมาตรา” ซึ่งเร็วกว่าอีกอย่าง คือการยกร่างใหม่ทั้งฉบับโดยใช้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร.) นักการเมืองบางส่วนอาจอยากได้เร็วๆ เพราะตอนนี้ดูจะไม่กล้าขยับตัวทำอะไร กลัวโดนร้องเรียน

ขณะเดียวกัน เริ่มมีข่าวว่า บางพรรคการเมือง คือ รวมไทยสร้างชาติ ( รทสช.) และภูมิใจไทย ชักจะไม่อยากร่วมลงเรือแก้รัฐธรรมนูญเรื่องจริยธรรม วันที่ 24 ก.ย. กรรมการบริหาร ( กก.บห.) พรรคภูมิใจไทยประชุม สส.แชมป์ นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง แถลงว่า เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะเป็นวิธีการที่ทำให้สังคมเกิดการยอมรับในกติกาการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญ ควรที่จะแก้ไขทั้งฉบับ โดยที่ดีจะแก้ไขรัฐธรรมนูญควรจะเป็นคนกลางจากทุกภาคส่วน ในรูปแบบของ ส.ส.ร. ยกเว้นการแก้ไขใน หมวด1-2

“เสี่ยหนู”นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุม ครม.ว่า คนการเมืองคือคนสาธารณะ มารับใช้บ้านเมืองและต้องใช้อำนาจรัฐในการบริหารราชการแผ่นดิน มองว่ามีความจำเป็นที่จะต้องถูกตรวจสอบ หากเราไม่ได้ทำอะไรผิดก็ไม่ต้องกลัวการโดนตรวจสอบ

“หลังจากคุยกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ มั่นใจว่านายก ฯไม่ซีเรียสเรื่องเหล่านี้ นายกฯบอกว่าเราทำดีซะอย่างจะกลัวอะไร ทำในสิ่งที่ถูกต้องก็พร้อมที่จะถูกตรวจสอบ อย่าทำอะไรให้ประชาชนมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการเอื้อให้กับพวกพ้องของตัวเอง” นี่ก็คือการส่งสัญญาณไม่เอาการแก้ไขรายมาตรา

ด้าน “เสี่ยอ้วน”นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ยืนยันว่า การแก้รัฐธรรมนูญเรื่องนี้ไม่ได้เริ่มจากเพื่อไทย แต่เป็นข้อเสนอจากหัวหน้าพรรคการเมืองหลายพรรค ดังนั้นยังต้องคุยกันให้เกิดความชัดเจน ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะเอาอย่างไร ต้องคุยกับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลให้เร็วที่สุด ถ้าเห็นด้วยเหมือนกันก็ไปด้วยกัน ถ้าไม่เห็นด้วยก็ยังไม่ต้องไป ยืนยันว่า ไม่ได้มุ่งแก้รัฐธรรมนูญจนลืมเรื่องแก้ไขปัญหาให้ประชาชน

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงที่พูดคุยกันข้างนอกห้องประชุม ครม. รัฐมนตรีทั้งหมดก็คุยกันเรื่องเยียวยาน้ำท่วมในแต่ละพื้นที่ เรื่องแก้กฎหมายอยู่ในรัฐสภา รัฐบาลต้องทำงานให้ประชาชนก่อน แต่เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่าดูเหมือนมีพรรคร่วมบางพรรคกลับลำ ตอนแรกอยากแก้แต่ตอนนี้กลับไม่แก้ อย่างเช่น พรรคภูมิใจไทย และพรรค รทสช. “นายกฯอิ๊งค์” กล่าวว่า “ต้องพูดคุยกัน จริงๆ แล้วไม่อยากให้นักข่าวถามแบบนี้ ในเรื่องว่ากลับลำ เข้าใจว่าเวลาสัมภาษณ์ถูกตัดบางคำพูด มันทำให้รู้สึกว่ากลับลำหรือไม่เห็นด้วย แต่ความจริงแล้วเราคุยกันหลังไมค์ เราเข้าใจกัน ถ้ารัฐบาลมั่นคง เสถียรภาพการเมืองมั่นคง ประเทศชาติก็มั่นคงไปด้วย อันนี้นักข่าวก็ต้องช่วยกันเรื่องนี้ จำไว้ว่าเราก็อยากให้รัฐบาลเข้มแข็งต่อไป ขอให้นักข่าวไม่ถามอะไรที่เป็นการยุแยง สิ่งที่เร่งด่วนที่สุดคือน้ำท่วม”

ณัฐวุฒิ บัวประทุม

ทางฝั่งพรรคประชาชน ( ปชน.) นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน.ยืนยันว่า จริยธรรมถูกตีความขยายไปเกินกว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หรือสิ่งที่ประชาชนคาดหวังอยากให้เป็น เปิดช่องให้องค์กรอิสระพิจารณาตีความขยายเกินกว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นอันตรายต่อการพัฒนาระบอบสถาบันการเมือง และการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย

สัปดาห์นี้ประธานรัฐสภาจะนัดหมายวิป 3 ฝ่าย เพื่อกำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่ง ปชน.เสนอไว้ทั้งหมด 4 ร่าง อาจจะขอเป็น 2วัน เราไม่แก้เพื่อประโยชน์ตัวเองและพวกพ้อง สมาชิกที่เข้าชื่อแก้ไขไม่ใช่คนที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับคดีจริยธรรมคือ สส. 44 คน อดีตพรรคก้าวไกล สำหรับการตรวจสอบที่สำคัญคือ ประชาชนตรวจสอบโดยลงคะแนนเลือกตั้ง หรือพรรคการเมืองเองมีระบบตรวจสอบที่เข้มข้น

ชูศักดิ์ ศิรินิล

แม้ว่านายภูมิธรรมจะให้สัมภาษณ์ในเชิงจะแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพราะเป็นข้อเสนอที่มาจากหลายพรรค ในช่วงเย็น ที่อาคารชินวัตร 3 มีการประชุมสส. ของพรรคเพื่อไทยประจำสัปดาห์ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ได้กล่าวต่อที่ประชุมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ประเด็นจริยธรรม โดยระบุว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้เกิดจากพรรคเพื่อไทย แต่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ในรัฐบาล เป็นผู้เสนอเข้ามา ทำให้ สส.ในพรรคเห็นตรงกันว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นพรรคเพื่อไทยก็จะไม่ผลักดันต่อ เพราะถึงอย่างไรเพื่อไทยก็ไม่ใชคนริเริ่ม

เกี่ยวกับเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือบอร์ดไตรภาคีครั้งต่อไป หลังจากการประชุมต้องยกเลิกไป เนื่องจากนายเมธี สุภาพงษ์ กรรมการค่าจ้างฝ่ายภาครัฐ จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกษียณอายุราชการ ว่า หากผู้แทนของ ธปท.ตอบรับ เราก็จะเรียกประชุมทันที วันนี้นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน จะประสานผู้แทน ธปท. หากตอบรับเข้าร่วมก็จะมีการประชุมบอร์ดไตรภาคีภายในสัปดาห์นี้ หากเรียกประชุมทัน

“ต้องรอความชัดเจนจากนายเมธี ในฐานะตัวแทน ธปท. ต้องรอให้องค์ประชุมครบ หากในสัปดาห์นี้ไม่มีการประชุมก็มีโอกาสประชุมอีกครั้งในวันที่ 30 ก.ย. เพราะในวันที่ 1 ต.ค. นายไพโรจน์ ในฐานะประธานบอร์ดไตรภาคีจะเกษียณอายุราชการ จะประชุมให้เรียบร้อยก่อนจะถึงวันดังกล่าว” นายพิพัฒน์ กล่าว และว่า “การขึ้นค่าแรง 400 บาทต่อวันก็พยายามทำให้จบในรุ่นผม แต่จะเปลี่ยนธงประกาศวันขึ้นค่าแรง 1 ต.ค. หรือไม่ยังไม่ขอยืนยัน” รมว.แรงงาน กล่าว

ส่วนนายกฯ อิ๊งค์ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร กล่าวว่า เรื่องค่าแรงเป็นนโยบายของรัฐบาล เราพยายามนัดหมายและเร่งให้ดำเนินการในเรื่องนี้ให้ได้เร็วที่สุด รัฐบาลยืนยันและต้องคอยผลักดันในเรื่องนี้ ไม่ได้มีการเตะถ่วงอะไร คิดว่าทั้ง 3 ภาคส่วนต้องมาพูดคุยกัน อยากให้ค่าแรง 400 บาททำได้เร็วที่สุด ต้องดูว่าติดขัดอะไรบ้าง แต่ตั้งใจว่าต้องขึ้นให้ได้ปีนี้

น.ส.แพทองธาร “หลุด” สัมภาษณ์ผิด โดยตอบคำถามถึงการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทแข็ง กระทบภาคธุรกิจว่า “รัฐบาลสามารถทำได้ในหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการส่งออกก็จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะใช้ข้อดีของค่าเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้ให้ได้ ส่วนการพูดคุยกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. นั้นขอให้กระทรวงการคลังไปพูดคุยกันดีกว่าว่าจะแก้ตรงนี้อย่างไรได้บ้าง และร่วมมือกันอย่างไรได้บ้าง”

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ต่อมา นายกฯ อิ๊งค์ให้สัมภาษณ์แก้ ว่า “เมื่อสักครู่ได้ฟังสิ่งที่ให้สัมภาษณ์ไปรู้สึกสับสน เรื่องของเงินบาทพอเงินบาทแข็งการส่งออกจะเป็นปัญหา ทุกคนมีความกังวลใจ แต่ที่ดิฉันพูดไปคือต้องการให้ใช้ข้อดีเกี่ยวกับเงินบาทแข็งในการนำเข้าสินค้า โครงการไหนที่จะนำเข้า ต้องล็อกตรงนี้ไว้เพื่อเป็นโอกาสในช่วงที่เงินบาทแข็ง แต่เรื่องเงินบาทแข็ง หากรัฐบาลและ ธปท. หาแนวทางร่วมกันไม่ได้ ความลำบากจะตกที่ประชาชน จึงต้องช่วยกัน”

และประเด็นจริยธรรม การยื่นบัญชีทรัพย์สิน ก็ยังทำให้นายกฯ ระวังตัวแจ “นายกฯ อิ๊งค์” น.ส.แพทองธาร ยังไม่ได้ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า และยืนยันจะทำตามที่กฎหมายแนะนำทุกอย่าง “มือใหม่ไม่เคยยื่นเลย กลัวผิดพลาด จึงพยายามถามรายละเอียดมาและยื่นให้ครบที่สุด”

ผู้สื่อข่าวถามว่า โลกโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คจับตาเครื่องประดับของนายกฯที่มีเยอะมาก น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า “ไม่ค่ะ เดี๋ยวต้องขอบคุณโซเชียล และจะไปดูในโซเชียลที่เคยลงไว้ในอดีต อันไหนที่ยังไม่ได้ถ่ายภาพก็จะไปดูรายละเอียดเพื่อนำไปประกอบการยื่นบัญชีทรัพย์สิน”

อังคณา นีละไพจิตร

สำหรับศึกชิงประธาน กมธ.ในวุฒิสภา มีรายงานว่า กลุ่ม สว. ที่เรียกกันว่า สว.สีน้ำเงิน ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่วางตัวบุคคลทำหน้าที่ประธาน กมธ.แล้ว 20 คณะ เว้นแต่ประธาน กมธ.การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งในการประชุม สุดท้าย นางอังคณา นีละไพจิตร กับนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี หรือผู้ว่าฯปู ได้คะแนนเท่ากัน

เมื่อจับฉลาก นางอังคณา จับฉลากได้นั่งตำแหน่งประธาน กมธ. นางอังคณา กล่าวว่า กมธ.ชุดนี้เป็นการรวม 2 กมธ. เข้าด้วยกัน คือ กมธ.พัฒนาการเมืองฯ กับ กมธ.สิทธิมนุษยชน งานของ สว.ชุดที่แล้วทำค้างไว้ สว.ชุดปัจจุบันมีมติให้ทำต่อ ก็ทำต่อ เช่น เรื่องการที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ

น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ได้พูดว่า ได้คนขายหมูได้เป็น กมธ.พัฒนาการเมืองฯ คนมองว่าเป็นการกลั่นแกล้งรังแก ( Bully บูลลี่ ) และด้อยค่าคนอื่น ว่า ที่ให้สัมภาษณ์ไปจะอธิบายชัดเจนว่า กมธ.ต่างๆ ที่บรรจุอยู่ อย่างแรกควรจะเลือกสรรตามคุณลักษณะกลุ่มวิชาชีพที่แต่ละคนเข้ามา สว.แตกต่างจากฝั่ง สส.เพราะมาจากกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม ฉะนั้น ควรพิจารณาตามกลุ่มอาชีพที่เข้ามา

“กลุ่ม กมธ.พัฒนาการเมือง ควรจะมีประสบการณ์ในเรื่องการทำงานด้านการเมือง สิทธิมนุษยชน และการสื่อสารทางการเมือง เราไม่ได้ด้อยค่าคนมีคุณสมบัติต่าง แต่เขาควรไปอยู่ใน กมธ.อื่นที่สอดคล้องกับวิชาชีพ ดิฉันพูดว่าคนที่ไม่มีประสบการณ์ตรงคือเข้ามาสายอาชีพอื่น กลับได้เข้ามาอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่มีเจตนาบูลลี่ กมธ.ทุกคนควรจะได้รับการบรรจุเข้าไปในสายอาชีพที่ตัวเองเป็น สว.ในกลุ่มนั้น ถ้าผิดฝาผิดตัวตั้งแต่ต้นโอกาสที่จะผลักดันวาระจนประสบความสำเร็จก็จะเป็นไปได้น้อยหรือแทบไม่มีเลย”

ประเด็นหลักๆ ของการเมือง ณ วันนี้คือท่าทีของฝ่ายนิติบัญญัติในการแก้กฎหมายเพื่อจำกัดอำนาจองค์กรอิสระในการให้คุณให้โทษด้านจริยธรรม และการแก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้อให้ฝ่ายการเมืองทำงานง่ายขึ้น เมื่อภูมิใจไทยและเพื่อไทยกลับลำแล้ว พรรคประชาชนจะเป็นอย่างไร.

“ทีมข่าวการเมือง”