เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดวธ. เป็นประธานเปิดโครงการลานวัฒนธรรมสร้างสุข ประติมากรรมเพื่อชุมชน จัดแสดงงานประติมากรรมของศิลปินร่วมสมัยผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และผลงานศิลปะสะสมของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ประกอบด้วย  

ผลงาน Liminal Space โดย “สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์” คอนเซ็ปต์การสร้างสรรค์ผลงาน คือ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลารอบตัว งานชิ้นนี้ต้องการจะเปิดพื้นที่ให้คนได้สำรวจสภาพแวดล้อม ณ ปัจจุบัน ได้หยุดพัก ได้มีเวลาอยู่กับตัวเอง จากภายนอกอันแวววาวและเปล่งประกายสะท้อนรูปอันหลากหลายมิติจากที่เห็นเป็นภาพชัดเจนย่อยสลายไปผ่านขนาดที่ลดหลั่นของกระจกขึ้นไปเพื่อให้เกิดเหลี่ยมมุม ส่วนด้านในเหมือนพากลับไปสู่วิหารแห่งความว่าง คือ ดิน ที่ถูกฉายไว้ภายในครอบวัสดุที่ดูเป็นขั้วตรงข้ามกันกับกระจก ดินที่ถูกฉาบไว้เหล่านี้ เพื่อที่จะให้เราได้ย้อนคิดถึงจุดกำเนิดของทุกสรรพสิ่ง แหล่งที่มา รากเหง้า เปิดโสตประสาท เพื่อให้เราได้หวนกลับไปถึงความว่างเปล่า

ผลงานเจดีย์เป่าลม TAI YUAN RETURN : ON TRANSMISSION AND INHERITANCE (A COLLABORATIVE AND PARTICIPATORY ART PROJECT 2023) โดยศิลปินกลุ่มบ้านนอก มีคอนเซ็ปต์ในการสร้างสรรค์ผลงาน คือ ผลงานที่ชื่อว่า “ไท-ยวนปิ๊กบ้าน: การสืบทอดและส่งต่อ” นำเสนอในรูปแบบของเจดีย์เป่าลมสีดำ เป็นผลงานที่พูดถึงประวัติศาสตร์ของชุมชนยวนพลัดถิ่นในหนองโพที่มีอันต้องอพยพมาจากเมืองเชียงแสนเมื่อ 200 ปีก่อน

ผลงานหมาจุด และ Dragonerpanzer โดย “ศินบุรี สุพานิชวรภาชน์” สำหรับ หมาจุด มีคอนเซ็ปต์ คือ “ไอ้จุด” สุนัขพันธุ์ไทยตัวแทนความฉลาดแสนรู้ของหมาบ้านๆจากราชบุรี ตัวแทนของความรู้สึกอยากรู้อยากเห็น ของรอยยิ้มสยาม ตัวแทนความฉลาดแสนรู้ของหมาบ้านๆ ซื่อ-ซ่า-ซน ที่รักบ้าน รักชุมชน ชอบงานศิลปะ เพราะคลุกคลีอยู่ในโรงงานเซรามิกกับพี่ๆ ช่างฝีมือ มีหน้าที่ส่งต่อความรัก ความซื่อสัตย์ กำลังใจ และพลังงานบวกให้แก่ผู้พบเห็น ส่วน Dragonerpanzer ประติมากรรมที่สร้างสรรค์ ตีความ และสร้างรูปแบบใหม่ ด้วยแรงบันดาลใจจากการอ่านหนังสือ “กระเบื้องถ้วย กะลาแตก” ของ “พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร” เพื่อสะท้อนถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และนำลวดลายที่อยู่บนแจกัน มาจัดวางบนรถถัง แทนค่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ แต่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงแม้ในช่วงเวลาปัจจุบัน 

ผลงาน DOLLAR 009  โดย “ทวีศักดิ์ ศรีทองดี” ถูกสร้างขึ้นมาเป็นตัวแทนของมนุษย์ที่ดำรงชีวิตอยู่บนโลกที่ต้องตั้งรับ ปรับตัว เตรียมพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปของโลก เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีที่ไม่แน่นอน ผันผวนอยู่ตลอดเวลา หุ่นเด็กหญิง Dollar มีรูปร่างสีขาวนวล ดูเหมือนมนุษย์ที่อยู่ในชุดยูนิฟอร์มดูคล้ายจะเป็นมนุษย์จากต่างดาว และมีขนาดใหญ่กว่าคน วางตำแหน่งอยู่ในพื้นที่ที่มีกิจกรรม มีกลุ่มคนเดินขวักไขว่ตลอดทั้งวัน ดวงตาจดจ้องอยู่กับบางสิ่งบางอย่าง เหมือนรอ เฝ้าคอย คิด ทีท่า ของ Dollar ไม่ผ่อนคลาย รอ เฝ้าคอย คิดบางอย่าง ต่างจากสภาพแวดล้อม ผู้คนซึ่งดูมีชีวิต เคลื่อนที่ตลอดเวลา

นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการ Cloud : ม่าน เมฆ หมอก โดย ภัณฑารักษ์ – กฤษฎา ดุษฎีวนิช เผยให้เห็นถึงบทสนทนาแห่งการต่อยอด วิธีคิดทางศิลปะร่วมสมัย ผ่านผลงานสะสม ของสศร. ที่ได้คัดสรรและจัดเก็บผลงานที่เป็นบทบันทึกทางศิลปะอันทรงคุณค่าต่อการเรียนรู้ภาวะโลกร่วมสมัย ท้าทายวิธีคิดทางศิลปะและมีผลกระทบอย่างตรงไปตรงมาต่อสังคมที่กำลังเคลื่อนตัวสู่โลกใหม่ ซึ่งกำลังท้าทายต่อความหมายและวิธีคิดในการดำรงอยู่ของมนุษย์

ประกอบด้วยผลงานดังนี้  A Drop of Water  Mirror 003 Mirror 011 และ Mirrors 016 โดย “อธิษว์ ศรสงคราม” Lost in Paradise โดย “เล็ก เกียรติศิริขจร” Space Shift โดย “มิติ เรืองกฤตยา” ด้วยไทยล้วนหมาย โดย “นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์” UP AGAINST THE WALL หลังชนฝา โดย “ณัฐพล สวัสดี” Fork โดย “ปรัชญา พิณทอง” ชอบ เงิน สด (Holy Production) โดย “ประทีป สุธาทองไทย”  Yellow Simple  โดย “สาครินทร์ เครืออ่อน” เสมอภาค : ทหารไทย (หลัก 6 ประการ) โดย “สุธี คุณาวิชยานนท์” YOU LEAD ME DOWN, TO THE OCEAN โดย “ธาดา เฮงทรัพย์กูล”

ผู้ที่สนใจสามารถร่วมชมผลงานนิทรรศการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย. – 20 พ.ย. 2567 ณ หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม