มาตรา 55 ของบทเฉพาะกาล ตามพระราชบัญญัติกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กำหนดว่าในกรณีที่มีการจ่ายเงินชดเชยให้แก่นํ้ามันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพอยู่ก่อนหน้าที่พระราชบัญญัตินี้บังคับใช้ ให้ใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อการดำเนินการดังกล่าวต่อไปได้เป็นระยะเวลา 3 ปี ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการต่อไป ให้คณะรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติมีอำนาจขยายระยะเวลาดำเนินการได้อีกไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสองปี ทั้งนี้ได้มีการต่ออายุไปแล้วหนึ่งครั้ง ซึ่งจะครบกำหนด วันที่ 24 กันยายน 2567 นี้

โครงสร้างราคานํ้ามันเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2567 ราคานํ้ามันเบนซิน 95 เท่ากับ 17.27 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาเอทานอลอยู่ที่ 30.52 บาทต่อลิตร ซึ่งราคาเอทานอลสูงกว่าราคาเบนซิน 95 ถึง 13.25 บาท ต่อลิตร ดังนั้น ยิ่งผสมเอทานอลมากขึ้น ทำให้ราคาแก๊สโซฮอล์ยิ่งสูงขึ้น ในขณะที่ราคาดีเซลหมุนเร็วอยู่ที่ 17.65 บาทต่อลิตร ราคานํ้ามัน B100 อยู่ที่ 35.0 บาทต่อลิตร ซึ่งราคา B100 สูงกว่าราคาดีเซลหมุนเร็วถึง 17.35 บาทต่อลิตร ดังนั้น ยิ่งผสมนํ้ามัน B100 มากขึ้น ทำให้ราคาไบโอดีเซลยิ่งสูงขึ้นเหมือนกับนํ้ามันแก๊สโซฮอล์

อย่างไรก็ตาม ในการส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพกว่า 15 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประโยชน์ตั้งแต่ต้นนํ้า กลางนํ้า และปลายนํ้า โดยสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้มีการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2562 พบว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร สร้างตลาดในประเทศ สร้างรายได้จากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพกระจายสู่ภูมิภาค เกิดการจ้างงานใหม่และเพิ่มความมั่นคงทางแรงงานในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานจากการลดการนำเข้านํ้ามัน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในทางตรงข้ามมีผลกระทบทางลบต่อผู้ใช้นํ้ามันที่ต้องใช้นํ้ามันราคาสูงขึ้นและรัฐบาลเก็บภาษีได้ลดลง จากการยกเว้นการเก็บภาษีของเอทานอลและ B100 มีรายละเอียดแต่ละประเภท ดังนี้

เอทานอล : มีเกษตรกรปลูกอ้อย 474,700 ราย ปลูกมันสำปะหลัง 587,800 ราย เกษตรกรกลุ่มนี้มีรายได้เพิ่มขึ้น 16,700 ล้านบาทต่อปี การแปรรูปสินค้าเกษตรมีรายได้เพิ่ม 10,700 ล้านบาทต่อปี โรงงานเอทานอลมีรายได้ 36,000 ล้านบาทต่อปี ผู้ค้านํ้ามันมีรายได้เพิ่ม 2,250 ล้านบาทต่อปี ลดการนำเข้านํ้ามัน 15,800 ล้านบาทต่อปี และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2.8 ล้านตันต่อปี ในทางตรงข้ามผู้ใช้นํ้ามันต้องจ่ายราคาแพงขึ้น 12,500 ล้านบาทต่อปีและรัฐบาลเก็บภาษี (สรรพสามิต เทศบาล และ VAT) ได้ลดลง 17,900 ล้านบาทต่อปี

ไบโอดีเซล : มีเกษตรกรปลูกปาล์ม 387,000 ราย เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม 22,760 ล้านบาทต่อปี การแปรรูปสินค้าเกษตรมีรายได้เพิ่ม 24,800 ล้านบาทต่อปี โรงงานไบโอดีเซลมีรายได้ 41,400 ล้านบาทต่อปี ผู้ค้านํ้ามันมีรายได้เพิ่ม 1,000 ล้านบาทต่อปี ลดการนำเข้านํ้ามัน 25,300 ล้านบาทต่อปี และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 3.4 ล้านตันต่อปี ในทางตรงข้ามผู้ใช้นํ้ามันต้องจ่ายราคาแพงขึ้น 3,800 ล้านบาทต่อปี และรัฐบาลเก็บภาษี (สรรพสามิต เทศบาลและ VAT) ได้ลดลง 22,500 ล้านบาทต่อปี.