มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) จัดงานสัมมนาเชิงวิชาการในหัวข้อ “บ่มเพาะองค์ความรู้ เสริมชุมชนท้องถิ่นสู่การพัฒนาอย่างมืออาชีพ” ณ อุทยานการเรียนรู้ TK Park Pattani จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยในการสนับสนุนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น งานสัมมนานี้จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และทักษะให้กับชุมชนในท้องถิ่น โดยเฉพาะด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การนำทรัพยากรในพื้นที่และอัตลักษณ์ของชุมชนมาเชื่อมโยงกับโลกออนไลน์ เป็นเครื่องมือในการเพิ่มศักยภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น ในงานสัมมนานี้ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วน โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขามาให้ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน มีการแลกเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการทำงานเพื่อให้ชุมชนสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง การใช้ทุนพื้นที่และอัตลักษณ์ของชุมชนให้กลายเป็นจุดแข็งในการพัฒนาสู่โลกออนไลน์ถูกเน้นย้ำเป็นพิเศษ เพื่อช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน และสร้างความยั่งยืนในระยะยาว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภาวิน ชินะโชติ ประธานกรรมการประจำสาขาวิชาวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า “กิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาเชิงวิชาการและการปฏิบัติการจริงของชุมชนท้องถิ่น ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ยังคงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นให้สามารถแข่งขันในระดับประเทศและนานาชาติ โดยเชื่อว่าการนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้ เข้ามาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ชุมชนสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนและตอบสนองต่อความต้องการของยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ท่านกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า “การนำทุนพื้นที่และอัตลักษณ์ชุมชนมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ดี เราต้องตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรในพื้นที่ที่เรามี ซึ่งประกอบไปด้วยทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม และความเชื่อมโยงทางสังคม ที่สามารถต่อยอดเพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การพัฒนาเศรษฐกิจด้วยทุนพื้นที่และอัตลักษณ์ชุมชน จะต้องเกิดจากการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ซึ่งปัจจุบันสามารถเสริมด้วยเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการเพิ่มศักยภาพและสร้างตลาดใหม่ให้กับชุมชนได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนต่อไป”

พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า “การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน และสตรีในชุมชนมีบทบาทสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาดังกล่าว พวกเขาเป็นแรงผลักดันที่ไม่เพียงแต่สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสันติภาพที่ถาวร การสนับสนุนสตรีให้มีบทบาทมากขึ้นในด้านเศรษฐกิจ จะไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงในครอบครัว แต่ยังช่วยสร้างความเข้มแข็งในชุมชน การทำให้สตรีมีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างสันติภาพที่มีรากฐานมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการสร้างสันติภาพ ถือเป็นภารกิจสำคัญที่เราจะต้องร่วมมือกันทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ผมขอขอบคุณทุกท่านที่มุ่งมั่นและทุ่มเทในการพัฒนาชุมชน และขอให้เราร่วมกันสร้างอนาคตที่ดีให้กับพื้นที่ชายแดนภาคใต้ต่อไป”

นางปัจฉิมา ธนสันติ อดีตอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า “การพัฒนาทุนพื้นที่และอัตลักษณ์ชุมชน ที่ยั่งยืนควรได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งรูปแบบของการจดเครื่องหมายการค้าของแบรนด์สินค้า รวมทั้งสร้างอัตลักษณ์สินค้าด้วยแบรนด์ชุมชนด้วยการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์“

นายนิอันนุวา สุไลมาน นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี กล่าวว่า “เมืองปัตตานีมีอัตลักษณ์เฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ศิลปวัฒนธรรม อาหารพื้นบ้าน หรือหัตถกรรมท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นทุนที่มีคุณค่า การนำเทคโนโลยีมาช่วยเสริมจะทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้นและสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ ขอเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมมือกัน เพื่อผลักดันเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน สร้างโอกาสให้ชุมชน และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่”

ท่านพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวถึงการพัฒนาศิลปะผ้าบาติกในพื้นที่ว่า “ศิลปะผ้าบาติกมิได้เป็นเพียงศิลปะท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังมีศักยภาพที่จะยกระดับเป็นศิลปะระดับโลกได้ เรามองเห็นโอกาสและความสามารถของคนในพื้นที่ที่จะร่วมกันพัฒนาผลงานผ้าบาติกให้มีความเป็นสากลและเติบโตสู่ตลาดโลกมากยิ่งขึ้น ซึ่งการได้รับความร่วมมือจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญ และการประกวดแข่งขันก็ถือเป็นทิศทางที่ดีแก่เยาวชนที่จะได้เข้ามามีบทบาทในการสืบทอดและพัฒนาศิลปะชุมชนอย่างผ้าบาติก ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยยกระดับศิลปะในชุมชน แต่ยังเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความสามารถและสร้างผลงานศิลปะส่งต่อไปสู่คนรุ่นใหม่อีกด้วย”

โดยในงานสัมมนาครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และผู้มีเกียรติท่านอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสและการพัฒนาสู่ความยั่งยืนในพื้นที่ชายแดนใต้เข้าร่วมงาน ซึ่งการสัมมนานี้ไม่เพียงแต่เป็นโอกาสในการพัฒนาท้องถิ่น แต่ยังเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงในพื้นที่ ผ่านบทบาทที่เข้มแข็งของสตรีในชุมชน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างความยั่งยืนในระยะยาว

ภายในงานยังมีการจัดกิจกรรมการประกวดวาดลายผ้าบาติกสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ภายใต้หัวข้อ “Learning City Pattani ปัตตานีน่าอยู่ เรียนรู้พหุวัฒนธรรม” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการเรียนรู้เกี่ยวกับพหุวัฒนธรรมที่หลากหลายในพื้นที่ โดยผู้ชนะการประกวดจะได้รับโล่รางวัลอันทรงเกียรติจากผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พร้อมเงินรางวัล เพื่อเป็นการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนในด้านศิลปะและวัฒนธรรม