เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM เปิดเผยว่า ช่วงปิดเทอมเดือนตุลาคมนี้ NSM ได้มีการจัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ (Science Camp) เพื่อเสริมทักษะการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับเยาวชน โดยมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ ค่ายแบบค้างคืน (2 วัน 1 คืน) ที่พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า NSM คลองห้า จ.ปทุมธานี กับ “ค่าย Ocean Coma The Series” วันที่ 12-13 ต.ค. ซึ่งจะพาน้องๆ ไปร่วมตรวจสอบสถานการณ์ของสุขภาพทะเลทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกเดือดสู่วิกฤตรุนแรงทั้งทะเลเป็นกรด ปะการังฟอกขาว สูญเสียแหล่งอาหาร และสร้างหายนะต่อสิ่งมีชีวิตสัตว์ใต้ท้องทะเล พร้อมรู้จักความหวังแห่งการรับมือสำหรับคนรุ่นใหม่ในอนาคต ผ่านกิจกรรมที่ได้ลงมือปฏิบัติ สำรวจตรวจสอบ ทดลอง สร้างโมเดลเพื่อทำนายผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่คาดไม่ถึง และประดิษฐ์แบบจำลองทะเลตามแนว Blue Carbon ทะเลเพื่อวันพรุ่งนี้เป็นชิ้นงานกลับบ้าน ผอ.NSM กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน เรายังมีค่ายแบบ Day Camp หรือค่ายแบบเช้าไปเย็นกลับ ตั้งแต่เวลา 09.30-16.30 น. ซึ่งจะจัดขึ้นที่จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ 1. จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เดอะ สตรีท รัชดา กรุงเทพฯ วันที่ 3 ต.ค. และ 10 ต.ค.นี้ กับ “ค่ายนักเคมีตัวจิ๋ว (Little Chemist)“ น้องๆ จะได้สนุกกับการเป็นนักเคมีตัวจิ๋ว! ผสมสารให้เกิดปฏิกิริยาสุดอลังการ เรียนรู้เรื่องกรด-เบส และความมหัศจรรย์ของแสงสี จากสารเคมีที่เรืองแสงได้ วันที่ 17 ต.ค. และ 24 ต.ค. พบ“ค่าย Engineering Design Process ; EDP ตอน Time (เวลามหาสนุก)” พาเปิดประตูสู่โลกแห่งเวลา พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา ผ่านกระบวนการออกแบบทางวิศวกรรม เรียนรู้หลักการวิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรมสนุกๆ และผจญภัยไปกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมแห่งเวลา

2. จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ วันที่ 5 ต.ค. และ 6 ต.ค. พบ “ค่ายขบวนการพิทักษ์พืชพิทักษ์โลก V1” (Plant ranger V1) เรียนรู้คุณค่าแห่งอาหาร รู้จักส่วนประกอบพืชผ่านเกมแสนสนุก และวิธีการเก็บรักษาพันธุ์พืช วันที่ 19 ต.ค. และ 20 ต.ค. พบกับ “ค่ายนักเคมีตัวจิ๋ว (Little Chemist)“

3. จัตุรัสวิทยาศาสตร์ โคราช เทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา วันที่ 5 ต.ค. และ 6 ต.ค. “ค่าย ตะลุยโลกดึกดำบรรพ์” มาสวมบทบาทนักธรณีวิทยา เรียนรู้เรื่องราวการกำเนิดและการแยกประเภทของหิน สนุกไปกับการจำลองการเกิดภูเขาไฟระเบิดพร้อมคืนชีพไดโนเสาร์ด้วยการใช้หลักการของระบบไฮดรอลิค และยังได้ไขความลับของโลกดึกดำบรรพ์ ณ พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน รวมถึงเรียนรู้เรื่องราวของซากฟอสซิล ทดลองการขุดหาฟอสซิลและเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง วันที่ 11 ต.ค. และ 12 ต.ค. “ค่าย The Star ค้นฟ้าคว้าวิทย์” เรียนรู้ถึงการกำเนิดดวงดาวในระบบสุริยะ ศึกษาการดูดาวด้วยวิธีที่ถูกต้องผ่านแผนที่ดาวที่ประดิษฐ์ด้วยตัวเอง พร้อมสนุกกับกิจกรรมระยะห่างของดวงดาวในระบบสุริยะและทำสิ่งประดิษฐ์ 3D Solar System ด้วยตัวเอง

“กิจกรรมทั้งหมดนี้ ไม่เพียงแต่น้องๆ จะได้ความรู้ ความสนุกสนาน และใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมให้เกิดประโยชน์แล้ว ทุกกิจกรรมยังมีเกียรติบัตรมอบให้เมื่อร่วมกิจกรรมครบหลักสูตรอีกด้วย โดยน้องๆ หรือพ่อแม่ผู้ปกครองที่สนใจ สามารถดูรายละเอียด กำหนดการ และสมัครได้ที่ https://www.nsm.or.th/nsm/index.php/th/node/55135 หรือสอบถามเพิ่มเติมที่สำนักบริการผู้เข้าชม อพวช. โทร.0 – 2577- 9999 ต่อ 2103 (ณรงค์ฤทธิ์)“ ผศ.ดร.รวิน กล่าว