สัปดาห์นี้ประเด็นร้อน ที่ต้องจับตามอง หนีไม่พ้นการหารือของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล หลังพรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ(รธน. )รายมาตรา โดยเฉพาะในปมที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรม อำนาจของศาลรธน.และองค์กรอิสระ ซึ่งดูเหมือนนอกจาก” พรรคประชาชน(ปชน.)” จะตอบรับ แต่พรรคการเมืองอื่นๆต่างแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย แม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์( ปชป.) ที่ตัดสินใจ เข้าร่วมรัฐบาล ก็ไม่เห็นด้วยด้วย ยิ่งแก้ไข เกี่ยวกับหลักจริยธรรม ของผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง

ก่อนหน้านั้น “นายภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ในฐานะ “ผู้จัดการรัฐบาล” ให้สัมภาษณ์ถึงการนัดหมายหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลถึงเรื่องการแก้ไขรธน.เป็นรายมาตราว่า ได้นัดประสานงานกับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว ซึ่งจะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า สำหรับประเด็นหลักที่จะมีการพูดคุยกันนั้น จะเป็นเรื่องที่เป็นปัญหา จากการใช้รธน. ซึ่งส่งผลต่อการบริหารราชการแผ่นดิน จึงเห็นว่าการแก้ไขรธน.เป็นรายมาตราจะเป็นทางออกที่ดี ส่วนจะมีการแก้ไขในประเด็นใดบ้างนั้น จะต้องหารือกันก่อนว่า แต่ละพรรคต้องการจะแก้ในประเด็นใดบ้าง และมีประเด็นใดที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน และหากมีเรื่องใดเป็นฉันทามติร่วมกัน ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี ทั้งนี้ขอยืนยันว่าไม่ได้ทำเพื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการทำให้กับทุกฝ่ายที่เห็นปัญหาร่วมกัน และเชื่อว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาได้

เมื่อถามว่าต้องพูดคุยกับฝ่ายของสมาชิกวุฒิสภา(สว.) ด้วยหรือไม่ เพราะการแก้ไขรธน.ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จ เพราะติดในส่วนของ สว. นายภูมิธรรมกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาใดๆที่ทำให้ทุกอย่างดีขึ้น เราก็ต้องมีความหวัง และต้องใช้ความพยายาม ทั้งนี้เราจะประสานงานกับวิปของสว.ด้วย เพราะสว.ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา จะพยายามประสานทุกฝ่าย ถ้าเห็นพ้องกันในเรื่องแก้ไขรธน. ก็จะสิ่งที่ดีที่สุด แต่หากไม่ได้เห็นพ้องต้องกัน ก็จะต้องมาพูดคุยถึงเหตุและผล ขณะเดียวกันทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมายว่าจะต้องใช้เสียงแค่ไหนอย่างไร

เมื่อถามว่า เกรงว่าจะทำให้เกิดนิติสงครามหรือไม่ เพราะมีคนเตรียมจะร้องเรียนว่าการแก้ไขรธน.ครั้งนี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่ต้องกลัวเรื่องนิติสงคราม คิดว่าเราควรเอาความตั้งใจและความปรารถนาดีเป็นที่ตั้ง ถ้าเราทำด้วยความตั้งใจและปรารถนาดี รวมถึงดูข้อกฎหมายให้ครบถ้วน และปฏิบัติตามกฎหมาย ทุกสิ่งจะเดินหน้าได้ ต้องรอดูว่าแกนนำพรรคพท.จะสามารถทำความเข้าใจ กับพรรครวมรัฐบาลได้หรือไม่ เพราะถ้าหากทำความเข้าใจไม่ได้ อาจสะท้อนให้เห็นถึงเอกภาพของฝ่ายบริหาร แม้พรรคพท.จะได้เสียงหนุนจากแกนนำพรรคฝ่ายค้านก็ตาม ยิ่งบรรดานักร้องเริ่มส่งสัญญาณ หากรัฐบาลยื่นขอแก้ไขรธน. เมื่อไหร่ จะยื่นเรื่ององค์กรอิสระให้ตรวจสอบทันที ว่ากระทำเพื่อประโยชน์นักการเมืองหรือไม่

สำหรับข้อเสนอแก้ไขรธน. รายมาตราของพรรคพท. ประกอบด้วย 6 ประเด็นคือ โดยประเด็นสำคัญคือ 1.แก้ไขมาตรา 160 ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรี ใน 3 ประเด็น คือ (4) ว่าด้วยมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ โดยแก้ไขให้เป็น “ไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่า ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต” โดยกำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขบังคับใช้ (5) ไม่มีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยแก้ไขให้ชัดเจนว่า ต้องเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในศาลฎีกา และ (7) ว่าด้วยไม่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอลงโทษ เว้นแต่ทำผิดโดยประมาท ความผิดลหุโทษหรือ ความผิดฐานหมิ่นประมาท แก้ไขให้นำกรณีดังกล่าวเป็นเหตุความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 แทน

2.แก้ไข มาตรา 211 ว่าด้วยมติของศาลรธน.ารวินิจฉัยคดีต่างๆ ที่กำหนดให้ถือเสียงข้างมาก แก้ไขโดยกำหนดเงื่อนไข กรณีเป็นคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ สส.-สว. สิ้นสุดลง หรือความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และการวินิจฉัยว่ามีการฝ่าฝืนตามมาตรา 144 ให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และแก้ไขเรื่องคำวินิจฉัยที่ผูกพันกับทุกองค์กรนั้น ให้เฉพาะคำวินิจฉัยที่เป็นประเด็นหลักโดยตรงของเรื่องที่วินิจฉัยเท่านั้นที่จะผูกพัน

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ Cover-Template-1280x720-New-150967-26-1.jpg

ด้าน “นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคพท. ให้ความเห็นถึงกรณีพรรคพท.จะนัดหารือพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อทำความเข้าใจเรื่องการแก้รธน. รายมาตรา ประเด็นมาตรฐานจริยธรรมที่ยังมีเสียงคัดค้านจากพรรคร่วมรัฐบาลว่า เชื่อว่าจะทำความเข้าใจกับพรรคร่วมรัฐบาลได้ เรื่องมาตรฐานจริยธรรมเป็นเรื่อง ที่ต้องแก้ไขให้เกิดความชัดเจน พรรคพท.ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรม เพราะที่ผ่านมาการตีความไม่มีความชัดเจน เห็นด้วยกับการแก้ไขให้ใช้เสียงตุลาการศาลรธน. 2ใน3 ในการพิจารณาสอยสส. และคณะรัฐมนตรี(ครม.)แทนการใช้เสียงข้างมาก โดยเฉพาะคดีสำคัญเกี่ยวกับ การดำรงตำแหน่งของนักการเมือง อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของประเทศ เช่น คดีถอดนายกฯ จำเป็นต้องใช้เสียง2ใน3 เป็นเกณฑ์ เพราะศาลรธน.ไม่ได้มาจากตัวแทนประชาชน แม้จะมีแรงต้านในการแก้ไข ก็ต้องทำความเข้าใจ ถ้าไม่แก้ก็อยู่แบบเดิม นักลงทุนที่ไหนจะกล้ามาลงทุนในไทย มั่นใจว่าจะได้รับความเห็นชอบจากเสียงในสภาฯ และพรรคร่วมรัฐบาลในการแก้รธน.รายมาตรา เรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม

ส่วน “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์(ปชป. ) กล่าวถึงการแก้ไขรธน.รายมาตราที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในขณะนี้ว่า “…ต้องไม่แตะ หมวด 1 หมวด 2 ที่ว่าด้วยรูปแบบของรัฐการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนในประเด็นอื่นนั้นก็ต้องดูเป็นรายประเด็นไป แต่จะต้องไม่แก้ไขจนเป็นการทำลายหลักการ การส่งเสริมให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และ ควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ

การแก้ไขรธน. ก็ไม่ควรเข้าข่ายการแก้ไขเพื่อตนเอง เพราะจะทำให้ขาดความชอบธรรม ซึ่งจะก่อผลกระทบทำให้การเมืองเสื่อม และอาจก่อให้เกิดแรงต้านจากประชาชน โดยเฉพาะในขั้นตอนสุดท้ายตอนทำประชามติ เพราะประเด็นการแก้ไขรธน.ในเรื่องคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของศาลและองค์กรอิสระ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ เข้าเงื่อนไขที่จะต้องทำประชามติก่อนนำขึ้นทูลเกล้า ฯ ด้วย…” นายจุรินทร์ กล่าว

เช่นเดียวกับ นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคปชป. กล่าวว่า รัฐบาลเข้าแถลงนโยบาย ต่อรัฐสภาเพียงไม่กี่วัน ก็จะยื่นแก้ไขรธน. ที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนเลย โดยเฉพาะปัญหาที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่ คือเรื่องปัญหาปากท้อง เพราะเนื้อหาที่จะแก้ไขรายมาตรา เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติของรัฐมนตรี ที่จะมาดำรงตำแหน่ง โดยเฉพาะการเอาคำว่าซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ประจักษ์ออกจากรธน. มีความเห็นว่า หากนักการเมืองขี้โกงเข้ามามีอำนาจบริหารประเทศก็จะเกิดความเสียหายได้ ดังนั้นความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ จะต้องคงอยู่ เพื่อเป็นมาตรฐานทางจริยธรรมให้กับนักการเมืองต่อไป

“…หากจะแก้รธน.ก็ควรจะถามประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริงเสียก่อน ผู้แทนที่เข้ามาใช้อำนาจไม่ควรแก้ไขรธน.เพื่อตนเอง เพราะเคยเสียผลประโยชน์จากเรื่องนี้ หากดันทุรังสุดซอย ประชาชนจะหมดศรัทธาได้…” นายสรรเพชร กล่าว

นั่นหมายความว่า การผลักดันการแก้ไขรธน.รายมาตรา ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ เพราะแรงต้านจากพรรคร่วมรัฐบาล คงจะประเมินต่ำไม่ได้ ต้องรอดู “พรรคพท.” จะยอมปรับแนวทางหรือไม่ เพื่อไม่ให้กระบวนการต้องแท้งไป แม่จะได้เสียงหนุนจากพรรคปชน. ก็ตาม

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งการพิจารณา แนวทางการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญฯได้พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยจะนำเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 26 ก.ย. ซึ่งมีความเห็นเห็นต่างว่าการนิรโทษกรรม จะรวมกรณีของผู้ที่มีคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยหรือไม่ ซึ่งกมธ.วิสามัญฯ ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จึงให้กรรมาธิการฯ แต่ละคนบันทึกความเห็นไว้ในรายงาน ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ 1.ไม่รวม เพราะไม่ใช่แรงจูงใจทางการเมือง 2.รวมอย่างมีเงื่อนไข 3.รวมโดยไม่มีเงื่อนไข

“นายธนกร วังบุญคงชนะ” สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าว ให้ความเห็นว่า ยืนยันมาตลอดว่าไม่เห็นด้วยและคัดค้านถึงที่สุด ไม่สมควรรวมคดีความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ได้รับการนิรโทษกรรม เพราะไม่ใช่แรงจูงใจทางการเมือง เพราะรธน.ระบุชัดเจน ในมาตรา 6 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ เป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดกล่าวหา หรือฟ้องร้องพระนามพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ และสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เกี่ยวข้องการเมือง หากจะนิรโทษกรรมให้ก็เสี่ยงที่จะขัดต่อรธน.

นายธนกร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้จากคำตัดสินของศาลรธน.ยุบพรรคก้าวไกล(ก.ก. ) ก็ชี้ชัดแล้วว่า มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครอง ซึ่งเป็นการ รณรงค์หาเสียง รวมถึงการยื่นแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งเมื่อมองเทียบเคียงกับ ผู้ที่กระทำความผิดตามมาตราดังกล่าว ยิ่งมีน้ำหนักรุนแรงกว่าพรรคก.ก.เสียด้วยซ้ำ ดังนั้นในการประชุมสภาฯพิจารณาเรื่องนี้ จะขอใช้เอกสิทธิ์สส. เลือกข้อ1. ไม่รวมมาตรา 112 ซึ่งเห็นด้วยที่จะมีการนิรโทษกรรมคดีการเมืองที่ไม่มีความรุนแรงหรือถึงแก่ชีวิต รวมทั้งไม่รวมคดีทุจริตคอรัปชั่นด้วย แต่ควรจะมีเงื่อนไขในการพิจารณาการนิรโทษกรรมอย่างละเอียดรอบคอบ เชื่อว่าสภาเองก็ต้องมีการพิจารณาอย่างรัดกุม ไม่ทำให้เกิดการขัดต่อกฎหมายรธน.เสียเอง

“ยกคดียุบพรรคก.ก.มาเทียบ ก็ทำให้เห็นได้ชัดเจน ว่าศาลรธน.มีคำวินิจฉัยอย่างละเอียดว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง หากจะนิรโทษกรรมให้ผู้มีความผิดตามมาตรา 112 สภาต้องคิดให้ดีและรอบคอบ ส่วนตัวขอคัดค้านและไม่เห็นด้วยที่จะรวมมาตรานี้ ให้ได้รับนิรโทษกรรม เพราะไม่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจทางการเมือง แต่หากที่ประชุมสภาในวันที่ 26ก.ย.นี้ มีการพิจารณาออกมาอย่างไร หากขัดต่อกฎหมายรธน. ก็ควรจะต้องมีผู้รับผิดชอบ” นายธนกร กล่าว.

ต้องรอดูท่าทีพรรคพท. จะมีท่าทีอย่างไร เพราะ “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ และผู้มากบารมีเหนือพรรคแกนนำรัฐบาล มีคดีมาตรา 112 ติดตัวอยู่ ซึ่งบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วย กับการล้างผิด พวกกระทำความผิด ในข้อหาล่วงละเมิดสถาบัน จะเป็นอีกปมร้อน ที่ต้องรอดูบทสรุปที่เกิดขึ้น ขณะที่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองบางกลุ่ม ก็เรียกร้องให้พรรคพท. สนับสนุนการออกกฎหมายล้างผิด ในคดีมาตรา 112