เรียกว่าเหตุโจมตีที่สร้างความฉงนและสงสัย ที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางสำหรับเหตุการณ์วิทยุติดตามตัว หรือ “เพจเจอร์” และวิทยุสื่อสารพกพา หรือที่เรียกว่า “Wakie-talkie”  ได้เกิดเหตุ การใช้อุปกรณ์ดังกล่าว เป็นเครื่องมือจุดชนวนระเบิดโจมตีกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ ในเลบานอน เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า  30  รายและบาดเจ็บ กว่า 2,800 คน เหุตการณ์ที่เกิดขึ้นหลายคนสงสัยว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร? อุปกรณ์สื่อสารกลายเป็นวัตถุระเบิดได้  ทาง “เดลินิวส์” พาไปหาคำตอบกัน

โดยทางสื่อต่างประเทศรายงานว่า การเกิดเหตุระเบิดโจมตี  กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ครั้งนี้ มีการซ่อนวัตถุระเบิดภายในชุดอุปกรณ์ แล้วถูกนำเข้าไปยังเลบานอน โดยอุปกรณ์สื่อสารดังกล่าว สั่งจากบริษัท Gold Apollo  ส่วนใหญ่เป็นรุ่น AP924  มีจำนวนมากกว่า 3,000  เครื่อง และกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้แจกจ่ายอุปกรณ์ดังกล่าวให้กับสมาชิกทั่วประเทศ

โดยวัตถุระเบิดที่ถูกฝัง มีน้ำหนักไม่เกินหนึ่งหรือสองออนซ์  (ประมาณ 28-56 กรัม) ถูกซ่อนไว้ข้างแบตเตอรี่ และยังมีการติดตั้งสวิตช์ที่สามารถเปิดใช้งานจากระยะไกลเพื่อจุดชนวนวัตถุระเบิดได้  หลังได้รับข้อความได้ทำให้วัตถุระเบิดทำงาน

อย่างไรก็ตาม ทาง  บริษัท Gold Apollo ของไต้หวัน  ก็ได้ออกมาระบุว่า  อุปกรณ์สื่อสารที่มีการระเบิดในเลบานอนถูกผลิตโดยตัวแทนจากยุโรปในฮังการี ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการผลิต รุ่น AR-924  บริษัทเพียงแค่ให้สิทธิ ใช้เครื่องหมายการค้าและไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกแบบหรือการผลิตสินค้านี้

ด้าน  พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.)  กล่าวว่า  กรณีการระเบิดของเพจเจอร์ และวิทยุสื่อสาร ที่เป็นข่าวในต่างประเทศนั้น จะต้องมีการเพิ่มสารที่เป็นวัตถุระเบิดในเครื่องก่อน เพราะปกติเพียงแต่ถ่านหรือแบตเตอรี่ที่เป็นแหล่งพลังงานหากเกิดระเบิด จะไม่รุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิต

สำหรับวิธีการทำให้เพจเจอร์ระเบิด ยังไม่ได้รับการยืนยัน แต่คาดการณ์ว่า มีการส่งข้อความบางอย่าง และตัวระบบของเพจเจอร์ ได้รับโค้ดเข้ามาที่เครื่องจึงทำให้มีการจุดระเบิด  ซึ่งจากที่เห็นในคลิปบางส่วนเครื่องสั่น หรือมีข้อความแจ้งเตือนเมื่อคนใช้ก้มดูก็เกิดระเบิด อาจจะมีรหัสบางอย่างฝังไว้ในตัวซอฟต์แวร์ ส่วนเครื่องมีการฝังระเบิดไว้ด้วย 

 พลอากาศตรี อมร ชมเชย

“ต้นเหตุที่กลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์กลับไปใช้ เพจจอร์ เพราะอุปกรณ์มือถือ สามารถระบุผู้ใช้งาน ตำแหน่ง หรือดักฟังได้ จึงหันกลับไปใช้ เพจเจอร์ เพื่อให้ไม่สามารถตามตัวได้  ซึ่งปกติการใช้โทรศัพท์มือถือ จะมีการเชื่อมต่อกับเซลล์ไซด์ หรือเสาโครงข่ายสัญญาณอย่างน้อย 3 เสา ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ว่ามือถือเบอร์นี้เกาะอยู่กับเซลล์ไซด์ไหน แต่การใช้เพจเจอร์ เมื่อเราอยู่ใกล้รัศมีสัญญาณวิทยุแล้ว เมื่อมีข้อความส่งมาตรงกับเลขเครื่อง ก็จะได้รับข้อความ จึงเป็นวิธีที่ผู้ใช้งานต้องการหลีกเลี่ยงการแสดงตัวตน  สำหรับกรณีที่เกิดเหตุระเบิด ก็จะเป็นการส่งข้อความโค้ดลับมาแล้วก็จะถูกทิกเกอร์ หรือจุดชนวนกับซอฟต์แวร์ หรือโค้ด  จนระเบิดที่ถูกฝังไว้เกิดการระเบิดขึ้น”

พลอากาศตรี  ยังบอกต่อว่า จากข่าวผู้เสียชีวิตไม่ใช่กลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ทั้งหมด แสดงว่า ใครที่ซื้อเพจเจอร์ในลอตนี้ ก็จะเกิดอันตรายไปด้วย โดยขั้นตอนการติดตั้งโค้ด และระเบิดอาจถูกกระทำในขั้นตอนการขนส่งระหว่างทางก่อนที่จะนำมาขายก็เป็นได้

“ตามปกติของเพจเจอร์ ก็เป็นอุปกรณ์ที่ไม่ได้มีความซับซ้อนไฮเทคมาก ส่งเพียงส่งข้อความไป แล้วคลื่นความถี่ตรงกัน เลขเฉพาะเครื่องตรงก็สามารถรับข้อความได้ ซึ่งพอรับโค้ดแล้วตรงกันก็จะเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดระเบิดได้ แต่ก็ต้องมีการฝังระเบิดไว้ก่อน โดยอุปกรณ์อาจขนส่งมาจากบริษัทผู้ผลิตแต่กว่าจะมาถึงอาจจะโดนนำไปดัดแปลงก่อน   อย่างไรก็ตามในกรณีนี้บริษัทผู้ผลิตในไต้หวันก็ได้ออกมาปฏิเสธแล้วว่าเลิกผลิตและได้ขายลิขสิทธิ์ให้กับบริษัทในฮังการีไปแล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ต้องเกี่ยวข้องหลายฝ่าย เป็นวิธีที่แยบยล ด้านสายลับกับไซเบอร์ที่ต้องผสมกัน”

พลอากาศตรี อมร บอกต่อว่า  สำหรับในประเทศไทยประชาชนคนทั่วไปไม่ควรตื่นตระหนก เพราะไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย และปกติอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ที่นำเข้ามาจำหน่ายในไทย ทาง สำนักงาน กสทช. จะมีการตรวจสอบเครื่องและมาตรฐานต่างๆ ก่อนให้นำมาวางจำหน่ายในท้องตลาด

สืบศักดิ์ สืบภักดี

ขณะที่ “สืบศักดิ์ สืบภักดี”  นักวิชาการ ด้านโทรคมนาคม บอกว่า  การใช้คลื่นวิทยุในการจุดระเบิดในแบบลักษณะรีโมต เป็นลักษณะเดียวกับการเกิดเหตุการณ์ในภาคใต้ของไทย  แต่การใช้คลื่นวิทยุ  หรือ RF (Radio-Frequency)  ยังมีเทคนิคปลายทางอีกหลายอย่าง  ในกรณีที่เป็นเพจเจอร์ จะมี โปรโตคอล ที่ส่งสัญญาณเป็นข้อความ (text) หรือสัญญาณกระตุ้นบางอย่าง ให้เกิดการจุดระเบิด แต่เทคโนโลยีที่เป็น เพจเจอร์  ปัจจุบันในไทยไม่มีการให้บริการแล้ว แต่ตัวเทคโนโลยียังอยู่  อย่างตนก็มีเพจเจอร์ ที่ใช้ส่งเพื่อการศึกษาและวิจัย

“จากข่าวที่เลบานอน เป็นการใช้วิทยุสื่อสารยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งก็เป็นการใช้คลื่นความถี่ส่งสัญญาณ เพื่อไปทริกเกอร์ให้เกิดการระเบิดตามที่ต้องการ ไม่ใช่แค่จุดสองจุด แต่มีการวางแผนเพื่อให้เป็นข่าวใหญ่  ซึ่งทริกเกอร์  คนที่นำไปใช้ในทางที่ผิดก็เกิดได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่ใช้เพื่อเปิดปั๊มน้ำ  เปิดไฟ จนถึงนำไปจุดระเบิด ซึ่งในทางอาชญาวิทยา จะเรียกว่า ระเบิดแสวงเครื่อง ซึ่งต้องมีชิ้นส่วนหนึ่ง คือ ดินระเบิด จะมีมากน้อยก็แล้วแต่  อาจนำไปซุกในเครื่องใช้ไฟฟ้า  วิทยุสื่อสาร ดูภายนอกจะไม่รู้เลยว่ามีระเบิดอยู่  ซึ่งการรีโมตควบคุมจากระยะไกลจะใช้คลื่นวิทยุ และเครื่องส่ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมานานแล้ว อยู่ที่ว่าจะนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร”

ทั้งหมด คือคำตอบว่า ทำไมอยู่ๆ อุปกรณ์สื่อสาร กลายมาเป็นระเบิดได้!?!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์