เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยญี่ปุ่น-อเมริกันได้รับรางวัล “อิกโนเบล” สาขาสรีรวิทยา จากการค้นพบว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสามารถหายใจทางทวารหนักได้ ซึ่งพวกเขาหวังว่าผลงานการค้นพบครั้งนี้จะนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 และโรคทางเดินหายใจอื่นๆ ได้

“ก่อนอื่นเลย ต้องขอขอบคุณที่เชื่อมั่นในศักยภาพของทวารหนัก” ทาคาโนริ ทาเคเบะ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยการแพทย์และทันตกรรมโตเกียว ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัย กล่าวขอบคุณระหว่างรับรางวัล 

ทีมของทาเคเบะพบว่าเมื่อให้ของเหลวที่มีออกซิเจนผ่านทวารหนักเข้าไปในลำไส้ของหมู หนูและหนูตะเภาที่เป็นโรคทางเดินหายใจ จะช่วยบรรเทาอาการป่วยได้ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดวิธีรักษาแบบใหม่ในลักษณะของการ “หายใจเทียม” ในมนุษย์ซึ่งอาจเป็นแนวทางที่นำไปใช้รักษาชีวิตของผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคโควิด-19 และโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ

“ในญี่ปุ่น เรามีสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจมากชนิดหนึ่งที่เรียกว่าปลาหมู (Loache) ซึ่งสามารถดูดออกซิเจนจากก้นได้ แล้วทำไมเราถึงทำไม่ได้ล่ะ นั่นคือคำถามที่ทำให้เราเริ่มต้น” ทาเคเบะกล่าวว่าปลาในวงศ์ปลาหมูเป็นสัตว์ที่สามารถหายใจผ่านลำไส้ได้ในสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนต่ำ เป็นแรงบันดาลใจให้ทีมของเขาและตัวเขาในการศึกษาว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสามารถทำเช่นเดียวกันได้หรือไม่ 

ผลงานที่ได้รับรางวัลของทีมนักวิจัยทั้ง 11 คน เคยได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Med ในปี 2564 และทำให้มีนักวิจัยชาวญี่ปุ่นสามารถคว้ารางวัลทางวิทยาศาสตร์ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขันนี้ติดต่อกันเป็นปีที่ 18 แล้ว  

อิโนเบล (Ig Nobel) เป็นรางวัลที่มอบให้นักวิจัยที่มีผลงานโดดเด่นตรงตามหลักเกณฑ์ โดยมีวารสารวิทยาศาสตร์ Annals of Improbable Research ของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ของสหรัฐฯ เป็นผู้จัดตั้ง ผู้ที่ได้รับรางวัลอิกโนเบลจะต้องเป็นผู้ที่มี “ความสำเร็จที่น่าประหลาดใจเสียจนทำให้ผู้คนหัวเราะแล้วคิดตาม” รางวัลนี้แบ่งออกเป็นหลายสาขา ซึ่งรวมถึงสาขาเพื่อสันติภาพ พฤกษศาสตร์ และการแพทย์

ที่มา : japantimes.co.jp

เครดิตภาพ : YouTube / New York Post