เมื่อวันที่ 21 ก.ย. จากเหตุการณ์พายุฝนกระหน่ำจนทำให้เกิดน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในหลายพื้นที่ของประเทศไทยในขณะนี้ สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมหาศาล ขณะที่รัฐบาลพยายามเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในหลายรูปแบบ โดย คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2567 อนุมัติกรอบวงเงิน 3,045.52 ล้านบาท ภายใต้งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และมีมติเห็นชอบ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และในวันที่ 24 ก.ย. นี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย จะประชุมชี้แจงขั้นตอนดำเนินการ ร่วมกับ 57 จังหวัดที่ได้รับการจัดสรรเงินช่วยเหลือดังกล่าว

สำหรับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ซึ่งเกิดสถานการณ์ขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 2567 เป็นต้นมา มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 57 จังหวัด จำนวน 338,391 ครัวเรือน

แบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้ (1) กรณีบ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังตั้งแต่ 1 วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินเสียหาย รวมถึงกรณีน้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 5,000 บาท

(2) กรณีบ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 7,000 บาท

(3) กรณีบ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 60 วันขึ้นไป ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 9,000 บาท

ส่วนเงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย มีดังนี้

1. ต้องเป็นบ้านที่อยู่อาศัยประจำในพื้นที่ที่ได้มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และ/หรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดย

1) ต้องมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกให้ (ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 30)  

2) ต้องผ่านการประชาคมหมู่บ้านของแต่ละพื้นที่ประสบสาธารณภัย

3) ต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) และคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากสำนักงานเขตและกรุงเทพมหานคร

2. กรณีที่ประสบภัยหลายครั้ง จะได้รับความช่วยเหลือเพียงครั้งเดียว

วิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือ แก่ผู้ประสบภัย ธนาคารออมสิน จะจ่ายเงินให้แก่ผู้ประสบภัยที่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือโดยตรง โดย การโอนเงินเข้าบัญชีผ่านระบบพร้อมเพย์ (PromptPay)