ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลบางจะเกร็ง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม บริษัทเทสโก้จำกัด ซึ่งได้รับมอบหมายจากกรมทรัพยากรน้ำจัดประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) ภายใต้โครงการค่าใช้จ่ายในการจัดทำรายงาน National Report ของประเทศไทย ตามพันธกรณีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยนายศราวุธ กล้วยจำนงค์ นายกเทศมนตรีบางจะเกร็ง เป็นประธานเปิดประชุม มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน ตัวแทนชาวบ้าน และตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านรวมกว่า 30 คน ร่วมประชุม 

ทั้งนี้เพื่อสำรวจสภาพพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอดให้เป็นปัจจุบัน ตลอดจนนำข้อมูลและความคิดเห็นของคนในพื้นที่ไปปรับใช้ในการบริหารจัดการการอนุรักษ์ โดย น.ส.ทัตฑยา พิทยาภา ผู้เชี่ยวชาญด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ นำคณะมาประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด 

โดยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและสถานการณ์ล่าสุดของดอนหอยหลอด โดยผู้นำชุมชนและชาวบ้านต่างระบุปัญหาสำคัญของดอนหอยหลอดในปัจจุบัน เช่น การลักลอบใช้โซดาไฟจับหอยหลอด ทำให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และปัญหาหอยกระปุกที่มีมากขึ้นทำให้ชาวประมงชายฝั่งออกคราดหอยกระปุกจนทรายในดอนฟุ้งกระจายและยังทำให้ดินเลนไม่ตกตะกอน 

นอกจากนี้ยังมีคนที่เห็นแก่ได้จับลูกหอยแครงที่เพิ่งเกิดไปขาย จนทำให้หอยแครงหายากทำให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เช่นกัน และยังมีปัญหาปลาหมอคางดำแพร่ระบาด การใช้กากชากำจัดปลาหมอคางดำ แม้จะกำจัดได้แต่ก็กระทบต่อคุณภาพน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

นายรุ่งนิรันดร์ จันทร์แจง เจ้าพนักงานประมงอาวุโส สำนักงานประมง จ.สมุทรสงครามกล่าวว่าเนื่องจากกฏหมายห้ามใช้เครื่องมือประมงทุกประเภทในพื้นที่ดอนหอยหลอดซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวจึงกระทบต่อการประกอบอาชีพของคนท้องถิ่นและการท่องเที่ยว คณะกรรมการประมงจังหวัดจึงมีประกาศให้ทำการประมงบริเวณดังกล่าวได้โดยใช้ ช้อน ทัพพี หรือคราดที่มีความถี่ของซี่ไม่เกิน 30 เซนติเมตร หรือใช้วิธีจับด้วยมือเท่านั้น ส่วนหอยหลอดนั้นให้งดจับในช่วงวันที่ 1-30 เม.ย.และวันที่ 1-31 ส.ค.ของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงที่หอยหลอดผสมพันธุ์ 

น.ส.ทัตฑยา พิทยาภา ผู้เชี่ยวชาญด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ กล่าวว่า พื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด อยู่ในพื้นที่ 4 ตำบลได้แก่ ต.บางจะเกร็ง ต.แหลมใหญ่ ต.บางแก้ว และ ต.คลองโคน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ครอบคลุมพื้นที่อ้างอิงตามทะเบียน 546,875 ไร่ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ เป็นลำดับที่ 1099 เมื่อวันที่ 5 ก.ค.44  แต่เมื่อศึกษาโดยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์แล้วพบว่าพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอดมีพื้นที่คำนวณได้ตามระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เพียง 57,576 ไร่จึงต้องมีการแก้ไขและอยู่ระหว่างการขอปรับแก้ไขขอบเขตพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอดใหม่ 

อย่างไรก็ตาม การประชุมกลุ่มย่อยครั้งนี้ วัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมความคิดเห็นในการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศและชี้แจงสร้างความเข้าใจเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี 6 พื้นที่จัดประชุมทั่วประเทศ เริ่มที่ จ.สมุทรสงคราม ผลการรับฟังความเห็นจะนำไปจัดทำเอกสารเพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำแก่ประชาชนและนำไปจัดทำรายงาน National Report ของประเทศไทยตามพันธกรณีของอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อให้กรมทรัพยากรน้ำนำข้อมูลไปร่วมประชุมอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ครั้งที่ 15 ที่ประเทศซิมบับเว ในเดือนกรกฎาคม 2568 ต่อไป