เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ห้องลาดพร้าว ชั้น M โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมสรุปผลการดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยได้รับเมตตาจาก พระปัญญาวชิรโมลี พระพิพัฒน์วชิโรภาส ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย เข้าประชุม โดยมี นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ นายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารระดับกรมและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย คณะที่ปรึกษาและผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่จะเกษียณอายุราชการในสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ที่จะถึงนี้ ขอให้ทุกท่านได้น้อมนำพระราชดำรัสของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระราชทานให้แก่ข้าราชการครูผู้เกษียณอายุราชการที่จังหวัดนครนายก เมื่อปี 2554 ความว่า “ทุกคนจะเกษียณอายุราชการได้ แต่อย่าเกษียณการทำประโยชน์ให้กับส่วนรวม” ทุกท่านที่ครบเกษียณอายุราชการในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นบุคลากรที่มีคุณูปการต่อการขับเคลื่อนงาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ของกระทรวงมหาดไทย และเมื่อทุกท่านพ้นจากตำแหน่งหน้าที่แล้วจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านจะช่วยเป็นแรงหนุนและให้กำลังใจพี่น้องชาวมหาดไทยที่จะต้องปฏิบัติภารกิจเพื่อพี่น้องประชาชนและประเทศชาติต่อไป

“สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์ท่านไม่ได้พระราชทานเพียงพระราชดำรัส แต่ทรงประพฤติปฏิบัติจริงเป็นตัวอย่าง ด้วยการที่พระองค์ท่านทรงงานหนักในทุกวัน เพราะงานของพระองค์ไม่ได้อยู่แค่เพียงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่หากเป็นทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะในถิ่นทุรกันดารห่างไกล ทรงรับหลายองค์กรหลายมูลนิธิไว้ในพระราชูปถัมภ์ ด้วยทรงมีเป้าหมายสูงสุด คือ ประโยชน์ของพสกนิกรชาวไทย ทั้งนี้ พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับพวกเราชาวมหาดไทย ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ตลอดจนถึงสมาคมแม่บ้านมหาดไทย โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พวกเราได้ทำสิ่งที่เกิดประโยชน์สุขกับประชาชนหลายประการ ได้แก่ 1) ช่วยกันดูแลลูกหลานของเรา ไม่ให้เด็กในครรภ์คลอดก่อนกำหนด และส่งเสริมทำให้เมื่อคลอดออกมาแล้วต้องได้รับการดูแล ทั้งการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอน และได้รับการศึกษา สามารถอ่านออกเขียนได้ 2) ทำให้เด็กทุกคนมีสุขภาพอนามัยที่ดี และมีโอกาสที่ดีในชีวิต อาทิ ด้านสวัสดิการหรือบริการของรัฐอย่างครอบคลุมและทั่วถึง นอกจากนี้ พระองค์ยังได้ตรัสกับพวกเราชาวมหาดไทย เมื่อครั้งที่ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท ณ วังสระปทุม ด้วยทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าควรให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ได้จัดทำคู่มือประจำตัวเด็กเพื่อให้เด็กได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วน ซึ่งทั้งหมดต้องอาศัยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกท่านช่วยรีวิวทบทวนการดำเนินการดังกล่าว ทำให้เกิดระบบการติดตามงาน ทั้งเรื่องตามแนวพระราชดำริ เรื่องการทำงาน รวมถึงทุกเรื่อง” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า วันนี้เป็นการทบทวนประมวลผลงานที่ทุกท่านได้ดำเนินการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะทำให้การทำงานของเราเกิดความยั่งยืนได้นั้น “ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ต้องไม่ทิ้งงาน และต้องติดตามงาน” เพราะงานที่ทำล้วนแล้วจะเกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ดังนั้น ทุกท่านต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะนายกรัฐมนตรีของจังหวัด ต้องวางรากฐานให้กับองค์กร ทำให้มีการทำงานอย่างเป็นระบบและมีแบบแผน รวมถึงการติดตามงาน การสื่อสารกับสังคม ทั้งที่ทำงานและกับพี่น้องประชาชน เพื่อสร้างการรับรู้ในสิ่งที่เราทำ ควบคู่กับการต้องทำให้มีการหมุนเวียนสลับเปลี่ยนเรียนรู้งานภายในสำนักงาน สร้างวัฒนธรรมการทำงานให้คนในกลุ่มงานพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงแบ่งเบางานภารกิจ ให้ทุกคนรู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะงานบริการประชาชน ควบคู่การส่งเสริมประกวด ITA หรือ PMQA ที่เป็นกระบวนการทำให้บุคลากรของเราได้แข่งขันฝึกฝนเพื่อยกระดับกระบวนการทำงาน นอกจากนี้ เราต้องเทรนนิ่งอบรมให้ความรู้ทั้งในงานที่ทำและงานที่เป็นร่มใหญ่ขององค์กร โดยหากเปรียบเปรยว่ากระทรวงมหาดไทยคือป่า ท่านต้องทำให้น้อง ๆ ข้าราชการของเรารู้จักที่ไม่ใช่เพียงรู้จักต้นไม้ทุกต้น แต่จะต้องรู้จัก “ทั่วทั้งป่าของกระทรวงมหาดไทย”

“การสื่อสารองค์กรมีความสำคัญอย่างยิ่งกับการทำงาน ซึ่งนอกจากจะเป็นการติดตามงาน และรายงานผลแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างให้คนมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของสังคม อาทิ เรื่องการประดับตกแต่งไฟ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เราสามารถต่อยอดขยายผลด้วยการเชิญชวนให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทั้งการจัดประกวดภาพถ่าย เช่นเดียวกับสถานที่สำคัญของแต่ละจังหวัดที่ได้มีการประดับตกแต่งให้มีความสวยงาม ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกท่านสามารถจัดประกวดถ่ายภาพ กิจกรรมการประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว และในส่วนการดูแลสิ่งแวดล้อม เรื่อง “น้ำ” เราสามารถดูแลได้ด้วยการไม่ทำลาย เราต้องให้ความสำคัญเชิงป้องกัน เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำคือการมี “ระบบบำบัดน้ำเสียครัวเรือนและชุมชน” โดยต้องขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ผ่านอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) คอยดูแลรายงานคุณภาพน้ำ ปลูกฝังให้คนในชุมชนช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งการส่งเสริมการดูแลน้ำ นอกจากจะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ขับเคลื่อนกระทั่งออกเป็น “กฎกระทรวง ฉบับที่ 71 (พ.ศ. 2566) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522”  ที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน และระบบบำบัดน้ำเสียอาคารสิ่งปลูกสร้างประเภทบ้านเรือนที่พักอาศัย สิ่งสำคัญคือผู้ว่าราชการจังหวัดต้องขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง เพราะการทำอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดความยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กระทรวงมหาดไทย ได้น้อมนำแนวพระบรมราโชบายในการ “แก้ไขในสิ่งผิด” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชน ซึ่งการผลักดันขับเคลื่อนเรื่องการแก้ไขปัญหาสัญชาติ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และมีความคืบหน้า เพราะเราให้ความสำคัญกับประชาชนทุกคน เพราะทุกคนคือทรัพยากรของชาติ ซึ่งการจะใช้โอกาสในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติได้ ต้องมาจากการได้รับการรับรองการเป็นบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมาย การเป็นบุคคลที่ถูกต้องยังทำให้ง่ายต่อการติดตาม และหากทำผิดกฎหมายก็สามารถเป็นเหตุให้เพิกถอนสัญชาติได้ รวมถึงเรื่องเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ตลอดจนการแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่เราได้ตั้งกลุ่มคนจิตอาสาหมู่บ้านป้องกันแก้ไขยาเสพติดตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย เป็นกองทุนแม่ของแผ่นดินจิตอาสาภาคประชาชน โดยกรมการปกครองและกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกันขับเคลื่อนโดยให้ข้าราชการผู้รับผิดชอบประจำตำบลร่วมกับพัฒนากร ไปช่วยดูแลเยี่ยมเยียน ตรวจตรา พี่น้องประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้เรายังมีกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กองทุนแม่ของแผ่นดิน บริษัทประชารัฐรักสามัคคี ที่อยู่ภายใต้การดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งท่านต้องทำให้เกิดกระบวนการพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ เพราะทั้งหมด คือเครื่องมือในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทำให้เกิดความเข้มแข็งของสังคมไทย ที่พวกเราทุกคนมุ่งมั่นจะทำให้ทุกลมหายใจเป็นลมหายใจแห่งการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน

“ผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องใช้ประโยชน์จากแผนที่ลุ่มน้ำควบคู่กับผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-Social Map) ในการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมที่ดิน มีระบบฐานข้อมูลอยู่แล้ว สามารถนำไปขับเคลื่อนในพื้นที่ได้ อาทิ การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ การทำฝายหรือหลุมขนมครก โดยขับเคลื่อนให้บรรจุในแผนของท้องถิ่นเพื่อจะมีงบประมาณพัฒนาแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม เพราะ “ถ้าหากเรามีแหล่งเก็บน้ำในหน้าฝน เราก็จะมีน้ำใช้ในหน้าแล้ง ก็จะเป็นประโยชน์ 2 ต่อ” จึงเป็นหน้าที่ของนายอำเภอ ผู้นำท้องถิ่นท้องที่ ภายใต้การขับเคลื่อนของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดในการช่วยแก้ไขในสิ่งผิดที่เกิดขึ้น และทำให้พี่น้องประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งในการทำงาน ทุกคนต้องมี “Passion” แม้ว่าที่ผ่านมาตลอด 132 ปี ของพันธกิจการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข หลายงานได้ทำจนแล้วเสร็จ แต่ยังไม่สำเร็จ ซึ่งพวกเราทุกคนจะต้องรวมพลัง ช่วยกันขับเคลื่อนงานกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า ตามระบบฐานข้อมูล ThaiQM เกือบ 15 ล้านครัวเรือน ของประเทศไทยให้เกิดคำว่า “ความสุข” และความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้หากเราไม่หยุดทำ ทั้งเรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติด การรณรงค์สวมใส่ผ้าไทย การทำให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้ทุกท่านจงตระหนักอยู่เสมอว่า ท่านจะไม่ถอดใจในการทำความดีในช่วงเวลาอายุราชการที่มีอยู่ ช่วยเป็นต้นแบบของราชสีห์ผู้ภักดีของแผ่นดิน เป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ในฐานะจิตอาสาเราทำความ ดี ด้วยหัวใจ ขับเคลื่อนงานในหน้าที่ภารกิจ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” ทั้งการบูรณาการงาน บูรณาการสรรพกำลัง และ 7 ภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะผู้นำภาคศาสนา เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้นกับสังคมและพี่น้องประชาชนให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ช่วยกันทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ดังพระราชดำรัส 30 มิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายรอให้คนมหาดไทยได้ลงมือทำในฐานะ “ผู้นำ” ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการทำงาน ทำให้ประชาชนหมดสิ้นจากความทุกข์ และมีความสุขเพิ่มมากยิ่งขึ้นอย่างยั่งยืน ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริฯ มุ่งทำงานแบบภาคีเครือข่าย ตามหลักทรงงาน 4 กระบวนการสู่ความยั่งยืน คือ “ร่วมพูด ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์” อย่างต่อเนื่อง ขอให้พวกเราทุกคนเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของพี่น้องประชาชน สร้างคุณูปการให้กับประเทศชาติได้สำเร็จ