เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่กระทรวงแรงงาน มีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 (กรรมการไตรภาคี หรือบอร์ดค่าจ้าง) ในเวลา 13.30 น. โดยมีการพิจารณาวาระสำคัญ คือการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำครั้งที่ 3 ของปี 2567 ซึ่งถูกเลื่อนมาจากการประชุมเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากกรรมการฯ สัดส่วนนายจ้างไม่ได้เข้าร่วมประชุม อย่างไรก็ตาม การประชุมในวันนี้ (20 ก.ย.) ปรากฏว่า กรรมการฯ ฝ่ายนายจ้างมาร่วมประชุมครบทั้ง 5 คน ประกอบด้วย น.ส.ศุภานัน ปลอดเหตุ นายณัฏฐกิตติ์ เขตตระการ นายอรรถยุทธ ลียะวณิช นางเนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย นายชัยยันต์ เจริญโชคทวี

ต่อมาเมื่อถึงเวลาการประชุมนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้เข้าประชุม และนับองค์ประชุม กระทั่งล่วงเลยเวลามากว่า 1 ชั่วโมงปรากฏว่า มีกรรมการเข้าร่วมประชุมเพียง 9 คน จากกรรมการทั้งหมด 15 คน โดยผู้ที่ขาดการประชุมคือสัดส่วนภาครัฐ 4 คน ลูกจ้าง 2 คน ซึ่งการจะเปิดประชุมได้ต้องมีผู้เข้าร่วม 10 คนขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ฝ่ายนายจ้างระบุว่าในระหว่างนี้ให้รอไปก่อน เผื่อมีกรรมการท่านใดมาประชุมเพิ่ม

ต่อมาเมื่อเวลา 15.00 น. นายไพโรจน์ โชติเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมบอกค่าจ้าง ว่า การประชุมวันนี้ไม่ได้ล่ม แต่ไม่ครบองค์ประชุม 2 ใน 3 เพราะมีตัวแทนของข้าราชการไม่ได้เข้าร่วมประชุมและลูกจ้างไม่มา 2 คน เนื่องจากตามข้อกำหนดระบุว่าจะต้องมีผู้เข้าประชุม 10 คนขึ้นไป ดังนั้นที่ประชุมวันนี้จึงมีการพูดคุยกันโดยมีการพูดถึงสภาพของการจ้างงาน ที่มีการจ้างลูกจ้างและจ่ายค่าจ้างในอัตรา 400 บาทอยู่จำนวนเท่าไร มีผลกระทบต่อแรงงานไทยอย่างไรบ้าง  ทั้งนี้มีการนัดหมายประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 24 ก.ย.นี้ ซึ่งได้มีการโทรสอบถามกันแล้ว หากยังไม่ครบอีกก็จะมีการขยับการประชุมไปอีก แต่คาดว่าน่าจะได้ข้อเสรุปและสามารถนำเข้าครม. ประมาณวันที่ 1 ต.ค.

เมื่อถามว่าไม่ทันวันที่ 1 ต.ค.นี้ใช่ไหรือไม่ นายไพโรจน์ พยักหน้าก่อนตอบว่า ใช่ อย่างไรก็ตาม ตนอยากทำให้ทันก่อนเกษียณอายุราชการ ซึ่งตนก็เหลือเวลาอีก 6 วันทั้งนี้หากหลังวันที่ 30 ก.ย.นี้ไป จะเป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่รับผิดชอบเรื่องนี้ หากยังไม่ได้เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ จะมีรักษาการปลัดกระทรวงเป็นผู้รับผิดชอบต่อไป ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่มีอะไรมากดดัน แต่ละฝ่ายก็มีมุมมองของตัวเอง

เมื่อถามว่า กรณีผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมนั้น มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อนหรือไม่ นายไพโรจน์ กล่าวว่า บางคนแจ้งกระทันหัน 2-3 ชั่วโมงที่ผ่านมา บางคนแจ้งมาล่วงหน้าว่า 1 วันว่าติดภารกิจ ส่วนลูกจ้าง 2 คนที่ไม่ได้เข้าร่วมนั้น แจ้งว่า ติดภารกิจส่วนตัว เพราะถึงจะมีการนัดประชุมล่วงหน้า แต่หากไม่สามารถร่วมการประชุมได้ แล้วส่งผู้แทนมาร่วมประชุม จะไม่สามารถลงมติได้ อยากให้กรรมการตัวจริงมาด้วยตนเอง ดังนั้นการประชุมครั้งหน้าก็จะย้ำไปยังกรรมการตัวจริง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ที่ไม่ได้เข้าประชุมครั้งนี้เป็นสัดส่วนรัฐบาล มองว่ารัฐบาลไม่จริงใจในการขึ้นค่าแรง นายไพโรจน์กล่าวว่า เป็นเรื่องของไตรภาคีในการพิจารณา เมื่อถามน้ำว่า หากเข้าครม.วันที่ 1 ต.ค.ให้มีการปรับเพิ่มค่าจ้างฯ จะขึ้นย้อนหลังให้หรือไม่ นายไพโรจน์ กล่าวว่า อาจจะต้องเบรกและกำหนดวันกันใหม่ ไม่น่าจะย้อนหลัง    

เมื่อถามว่า การประชุมครั้งที่แล้ว นายจ้างไม่ได้เข้าร่วม พอเข้าใจได้ แต่ครั้งที่เป็นสัดส่วนภาครัฐบาลไม่มาทั้งหมดเลย เป็นเรื่องผิดปกติหรือไม่ นายไพโรจน์กล่าวว่า ตนขอไม่ตอบเรื่องนี้ แต่ตนไม่ได้อยู่เบื้องหลัง

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า มีคนเห็นกรรมการการกระทรวงพาณิชย์ มาที่กระทรวงแรงงานในช่วงที่มีการประชุม แต่ไม่เข้าประชุม นายไพโรจน์ ถามกลับผู้สื่อข่าวว่า “ไม่เข้าใช่ไหม” เขาคงมีเหตุผลส่วนตัว ว่าไม่อยากประชุม เพราะบางครั้งคนที่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุมไม่รู้ว่าบรรยากาศข้างในเป็นอย่างไร แต่ตนรู้ดี

เมื่อถามย้ำว่า ครั้งนี้ล่มเพราะรัฐบาล จะทำอย่างไร ในฐานะประธานบอร์ด นายไพโรจน์ กล่าวว่า ตนเหลืออีก 6 วันเอง ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า มีการตีความว่า ที่รัฐบาลไม่เข้า เพื่อไปหาตัวเลขใหม่ในรอบหน้า นายไพโรจน์ กล่าววว่า มันน่าจะมีประเด็น แต่ไม่ขอพูดดีกว่า รายงานข่าวแจ้งว่า มีคนพบนายพูลพงษ์ นัยนาภากร ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์  กรรมการค่าจ้าง สัดส่วนรัฐบาล ปรากฏตัวที่กระทรวงแรงงานในช่วงเวลาเที่ยง กำลังขึ้นลิฟต์สำหรับผู้บริหารขึ้นไปยังชั้นบนของอาคาร 15 ชั้น กระทรวงแรงงาน แต่กลับไม่ได้เข้าร่วมประชุม.