น.ส.ปรินทร์ทิพย์ อิสริยเมธา ผู้ช่วยรองกรรมการผู้อำนวยการสื่อสารองค์กร และรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้นำหนังสือเสียงระบบเดซี่ และหนังสือเบรลล์ ที่จัดทำขึ้นจากการนำเอาเนื้อหาของพ็อกเกตบุ๊ก “คมเขี้ยว Startup” เรื่องราวชีวิต และเส้นทางการดำเนินธุรกิจของคุณคมสันต์ ลี เจ้าของธุรกิจ แฟลช เอ็กซ์เพรส มาถ่ายทอดในรูปแบบหนังสือสำหรับผู้บกพร่องทางสายตา ทั้งนี้นายคมสันต์ เล็งเห็นถึงความสำคัญด้านการศึกษามาโดยตลอด เพราะมีความเชื่อว่าโอกาสทางการศึกษาจะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคน

น.ส.ปรินทร์ทิพย์ กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา นายคมสันต์ ได้มีโอกาสช่วยเหลือสังคมในด้านการศึกษามาตลอดที่ทำธุรกิจ จนกระทั่งปี 65 จึงได้ก่อตั้งโครงการคมส่งฝันขึ้น และเปิดโอกาสให้เยาวชนที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ 11 คน ได้เข้ามาเป็นนักศึกษาทุนของโครงการฯ ซึ่งนายคมสันต์ มีความตั้งใจมาโดยตลอดว่าอยากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และมีการศึกษาที่เท่าเทียม ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมาจากไหน หรือมีต้นทุนทางชีวิตมากน้อยแค่ไหน แต่หากมีความใฝ่ดีในการเรียนก็ไม่ยากที่จะสร้างชีวิตให้ประสบความสำเร็จได้

น.ส.ปรินทร์ทิพย์ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการดังกล่าว มีการจัดทำหนังสือ 2 รูปแบบคือ หนังสือเสียงระบบเดซี่ผ่านแอปพลิเคชัน Read for the Blind สำหรับผู้บกพร่องทางสายตาที่ไม่สามารถอ่านอักษรเบรลล์ได้ และหนังสือเบรลล์ สำหรับผู้บกพร่องทางสายตาที่สามารถอ่านอักษรเบรลล์ได้ ซึ่งทีมงานได้ร่วมบันทึกเสียง และจัดทำเพื่อส่งมอบแก่มูลนิธิคนตาบอด เพื่อกระจายไปยังโรงเรียนสอนคนตาบอด 15 แห่งทั่วประเทศ โดยความตั้งใจส่วนหนึ่งของการจัดทำ คือต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข แม้จะต้องเจออุปสรรคหรือปัญหามากแค่ไหน ซึ่งอีกมุมของหนังสือคมเขี้ยวสตาร์ทอัพที่ถูกจัดทำ จะสะท้อนให้ผู้อ่านมองเห็นคุณค่าของชีวิตมากขึ้นด้วย

ด้านนายกิติพงศ์ สุทธิ ผู้อำนวยการห้องสมุดคนตาบอดและผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้พิการทางสายตาที่อยู่ในสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยประมาณ 15,000 คนทั่วประเทศ แต่มีกลุ่มผู้พิการทางสายตาที่ลงทะเบียนกับรัฐมากถึง 200,000 คน ขณะที่จำนวนหนังสือเสียง และหนังสือเบรลล์ที่มีอยู่ในระบบสำหรับคนกลุ่มนี้ มีสัดส่วนไม่ถึง 5% และกว่า 95% ของหนังสือเสียงผลิตขึ้นได้ด้วยอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยสนับสนุน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิมีไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนงานในส่วนนี้ อีกทั้งข้อจำกัดในส่วนของห้องอ่านหนังสือเสียง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ และอุปกรณ์ ทางมูลนิธิจึงต้องอาศัยอาสาสมัครเข้ามาช่วยอ่านหนังสือเสียงผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน ซึ่งทางมูลนิธิคนตาบอดจะส่งมอบหนังสือที่ทางโครงการคมส่งฝันได้จัดทำ กระจายต่อไปยังโรงเรียนสอนคนตาบอดทั่วประเทศทั้ง 15 แห่งต่อไป.