เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่กระทรวงแรงงาน มีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 (กรรมการไตรภาคี หรือบอร์ดค่าจ้าง) ในเวลา 13.30 น. โดยมีการพิจารณาวาระสำคัญ คือการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำครั้งที่ 3 ของปี 2567 ซึ่งถูกเลื่อนมาจากการประชุมเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากกรรมการฯ สัดส่วนนายจ้างไม่ได้เข้าร่วมประชุม อย่างไรก็ตาม การประชุมในวันนี้ (20 ก.ย.) ปรากฏว่า กรรมการฯ ฝ่ายนายจ้างมาร่วมประชุมครบทั้ง 5 คน ประกอบด้วย น.ส.ศุภานัน ปลอดเหตุ นายณัฏฐกิตติ์ เขตตระการ นายอรรถยุทธ ลียะวณิช นางเนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย นายชัยยันต์ เจริญโชคทวี

โดยนายชัยยันต์  กล่าวว่า ทุกอย่างเราทำตามระบบตามระเบียบ ซึ่งการขึ้นค่าจ้างจะต้องผ่านการสรรหาและการคัดเลือก และการวิเคราะห์จากอนุกรรมการทุกจังหวัด ซึ่ง 77 จังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เมื่อผ่านขั้นตอนตรงนั้นจะมีการเสนอเข้าสู่อนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง ซึ่งเป็นระบบไตรภาคี หลังจากนั้นเสนอเข้าสู่คณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเราจะพิจารณาตามระเบียบ ตามสูตรที่มีการตกลงกันไว้ทั้งหมด ยืนยันเราเคารพกติกาทั้งหมด และยินดีขอให้ดำเนินการสิ่งที่ควรจะเป็น ตามมาตราต่างๆ ที่ว่ากันไว้ แม้ว่าคณะกรรมการค่าจ้างยังไม่มีการประชุม แต่เราไม่เห็นด้วยที่มีบุคคลไปออกสื่อ เพื่อชี้นำการขึ้นค่าแรง เนื่องจากคณะกรรมการไตรภาคีมาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้มาจากหน่วยงานของรัฐ ไม่เหมือนกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ

เมื่อถามว่า มีความกังวลว่าการประชุมครั้งนี้จะถูกแทรกแซงการเมืองหรือไม่นั้น  นายชัยยันต์ กล่าวว่า ไม่มีความกังวล เรามีความชัดเจนมาตลอด แม้กระทั่งที่ผ่านมาที่หาว่าเราหนีการประชุม ซึ่งเรื่องนี้ไม่เป็นจริง เราตระหนักดีว่าการประชุมมีการเลื่อน และเรื่องนี้มีการชี้แจงไปแล้ว ซึ่งขอให้ทุกคนเข้าใจเพราะวันนี้ฝ่ายนายจ้างกลายเป็นจำเลยของสังคม

เมื่อถามต่อว่า มองว่าฝ่ายการเมืองได้เข้ามาแทรกแซงการขึ้นค่าแรงครั้งที่ 3 ในรอบปีครั้งนี้หรือไม่ นายชัยยันต์ กล่าวว่า เราไม่ได้กังวลกับสิ่งที่ท่านไปให้ข่าวก่อนหน้านี้ เพราะการจะพูดอะไร สามารถพูดได้ทั้งหมด ซึ่งฝ่ายนายจ้างเราไม่เคยให้ข่าวที่บิดเบือน ดังนั้นยืนยันว่าวันนี้เราจะพิจารณาตามกฎหมายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

ส่วนการประชุมครั้งนี้เหมือนมีการตั้งธงเอาไว้แล้วว่าการประชุมไตรภาคีในครั้งนี้จะเป็นเพียงตรายาง นายชัยยันต์ กล่าวว่า ในครั้งนี้ธงอาจจะล้มก็ได้ เพราะตั้งได้ก็ล้มได้ การล้มธงไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ เราอยากให้ทุกฝ่ายไตรภาคี ทำตามข้อตกลงภายใต้กฎหมายมาตราต่างๆ ในการปรับค่าจ้าง และที่ผ่านมาฝ่ายนายจ้างไม่เคยไปดึงเกม หรือในปี 67 ที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างมาแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ที่ผ่านมาจะบอกว่าไม่เป็นไปตามกฎหมายก็ไม่ได้ เพราะเราอะลุ่มอล่วย เช่น ในปี 67 ซึ่งบางจังหวัดมีการเสนอตัวเลขมาแล้วถูกปรับลดลง และที่ผ่านมาจะเห็นว่าเราไม่มีการลดค่าจ้าง มีแต่เพิ่มให้ บางจังหวัดขึ้นแบบก้าวกระโดดก็เป็นการขอร้องจากภาครัฐ เพื่อต้องการดึงเศรษฐกิจในจังหวัดนั้นดีขึ้น ทั้งที่จังหวัดนั้นเป็นรายได้หลักของประเทศ ซึ่งเรายินยอมอะลุ่มอล่วยให้มาโดยตลอด.