ผลจากการใช้ประมวลจริยธรรม ถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ ลามหนักจนกลายเป็นฝ่ายการเมืองไม่กล้าทำงาน ขยับตัวก็กลัว“นักร้อง” ขนาด “นายกฯ อิ๊งค์”ยังพูดว่า ไม่อยากมีคดีลูกยังเล็ก ทำให้ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน ( ปชน.) ต้องการแก้ไขเรื่องการลงโทษในหมวดจริยธรรม ให้มีนิยามและมาตรฐานที่ชัดเจน ไม่ให้องค์กรอิสระใช้อำนาจแบบ“เหาะเหินเกินลงกา” โดยอาจทำในรูปแบบแก้ไขรายมาตรก่อน

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เตือนการแก้รัฐธรรมนูญเรื่องจริยธรรม จะเป็นเหตุของการสิ้นสุดรัฐบาล การแก้ในประเด็นจริยธรรมและอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระในการวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวอาจต้องคิดทบทวนให้ดี จะเป็นเหมือนการแก้แบบสุดซอยอีกหรือไม่ พรรคเพื่อไทยเคยโดนวินิจฉัยประเด็นความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ จนเป็นเหตุให้นายกฯ กระเด็นจากเก้าอี้ไปแล้ว นายกฯ คนปัจจุบันอาจจะโดนซ้ำรอย และพรรคก้าวไกลเองก็มี สส.44 คนติดคดีละเมิดจริยธรรมเรื่องการเสนอแก้ไข ม.112

“การประสานเสียงแก้ของ 2 พรรค ดูเหมือนเริ่มจากประโยชน์ส่วนบุคคลหรือของพรรคเป็นหลักหรือไม่ การแก้รัฐธรรมนูญเรื่องจริยธรรมแบบสุดซอยกำลังจะเกิดขึ้น หวังว่า คงไม่นำไปสู่การสิ้นสุดของรัฐบาล”

ที่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) “รองนายกฯอ้วน”ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม บอกว่า ในสัปดาห์หน้าจะเชิญพรรคร่วมรัฐบาลมาหารือ ได้ให้พรรคร่วมรัฐบาลไปรับฟังสิ่งต่างๆ ที่คิดว่าเป็นข้อปฏิบัติที่มีปัญหา และมาเขียนเป็นร่างกฎหมาย วิธีที่ดีที่สุดและเร็วที่สุดคือการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา

นายภูมิธรรมยังให้สัมภาษณ์ถึงวันครบรอบ 18 ปี รัฐประหาร 49 ว่า “คิดว่าทุกคนอยู่กับปัจจุบันและอนาคต ไม่ได้อยู่กับอดีต ถ้าเรามัวแต่ไปยุ่งกับอดีตมาก เราจะทำงานไปข้างหน้ายาก อดีตให้เป็นบทเรียน ไม่ว่าจะด้านบวกหรือลบก็ไปเรียนรู้มัน แต่ปัจจุบันสำคัญที่สุดว่ามีปัญหามีภารกิจอะไร ข้างหน้าอยากจะเดินไปทางไหน ถ้าเราไม่คิดแบบนี้ประเทศเดินไม่ได้ ต้องเริ่มต้นจากปัจจุบันและก้าวไปอนาคตดีกว่า ดังนั้นวันดังกล่าวไม่มีความหมายอะไรมาก”

ส่วนเฟซบุ๊กพรรคประชาชน (ปชน.) โพสต์ว่า ผ่านไป 18 ปี หลังรัฐประหาร เกือบ 2 ทศวรรษ ใครจะไปเชื่อสังคมไทยจะถูกนำกลับมาสู่จุดเดิม คู่ขัดแย้งทั้งหมดที่เคยนำพาประชาชนลงถนนต่อสู้กัน เกือบ 2 ทศวรรษ บัดนี้พวกเขากลับมาสู่จุดที่สมานฉันท์ชื่นมื่น 19 ก.ย.2549 จึงเป็นรัฐประหารที่เสียของโดยสิ้นเชิง เราไม่รู้ว่าเขาจะข้ามขั้วอยู่กันได้ยืดยาวแค่ไหน ท่ามกลางการต่อรองผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เราหวังว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรค ปชน.จะได้รับการสนับสนุนในสภา เนื้อหาสำคัญ อาทิ การห้ามไม่ให้มีการนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร กำหนดให้ประชาชนเป็นผู้เสียหาย ที่ฟ้องผู้ก่อรัฐประหารฐานกบฏได้โดยปราศจากอายุความ เป็นต้น

การต่อสู้ด้วยการใช้จริยธรรมประหัตประหาร เป็นนิติสงคราม ฝ่ายหนึ่งก็ไล่ร้องเรียนนายกฯ อีกฝ่ายหนึ่งก็ไล่ร้องเรียน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) กลับว่า “ไม่เคยเข้าประชุมสภา” ซึ่งโทษถึงถอดถอน เรื่องนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ดูอึกอักที่จะตอบ กล่าวเพียงว่า ยังไม่เห็นหนังสือที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทยยื่นให้ตรวจสอบ พล.อ.ประวิตร

“หากเนื้อหาเข้าข่ายก็จะส่งให้กับกรรมการจริยธรรม ไม่ทราบว่า พล.อ.ประวิตรมีใบลาประชุมหรือไม่ ต้องไปดูว่าในสมัยประชุมที่แล้ว และในสมัยประชุมนี้ พล.อ.ประวิตรมาประชุมกี่ครั้ง และมีใบลาครบตามข้อบังคับ จำข้อบังคับไม่ค่อยได้ว่าขาดได้กี่ครั้ง แต่หากขาดโดยไม่ลาและไม่มีเหตุผลพอ ก็ต้องเสนอให้พ้นจากสมาชิกภาพได้” ประธานสภา กล่าว และบอกอีกว่า ทั้งหมดก็ต้องขึ้นอยู่กับใบลาและเหตุผล เพราะมีบางคนที่ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลส่งใบลาพร้อมใบรับรองแพทย์มาตลอดสมัยการประชุมก็มี

นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า เรื่องใบลา ส่วนใหญ่เลขาธิการสภาจะเป็นผู้ดู ถ้าลาเกินกำหนดก็ต้องทำรายงานส่งมา ส่วนที่หากขาดเกิน 3 ครั้งจะผิดรัฐธรรมนูญ ก็ต้องไปดูในข้อบังคับ แต่สภาจะต้องพิจารณาตามเหตุผล สามารถเปิดเผยการสถิติการขาดลาการประชุมของ สส. ได้ แต่ไม่สามารถดูในใบลาหรือรับรองแพทย์ได้

สำหรับกรณี พล.อ. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ถูกศาล จ.นราธิวาสออกหมายจับคดีตากใบ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า พล.อ.พิศาลมีใบลาให้เหตุผลว่าป่วย แต่ขณะนี้ ทางสำนักงานยุติธรรมของศาลอาญาได้ส่งหนังสือขออนุญาตจับกุมในระหว่างสมัยประชุมมาแล้ว ได้ให้ฝ่ายกฎหมาย ดูว่าสภาจะดำเนินการอย่างไรโดยด่วนต่อไป

พล.อ.ประวิตรนั้น วันที่ 19 ก.ย.ก็ไม่เข้าประชุมสภา แต่ไปแจกของช่วยน้ำท่วมที่หนองคาย และให้สัมภาษณ์ว่า มาดูสถานการณ์ และเอาไปเป็นประโยชน์และบทเรียนตอนกลับมาเป็นรัฐบาลครั้งหน้า จะได้นำมาแก้ไขปัญหาเรื่องเหล่านี้ ให้ประชาชน รัฐบาลที่ผ่านมา ตนเป็นรองนายกฯ มีหน้าที่กำกับดูแลเรื่องน้ำทำมา 8-9 ปี ไม่มีท่วม ไม่มีแล้ง วันนี้ต้องให้กำลังใจชาวบ้าน ว่าต้องเข้มแข็ง เพื่อให้เผชิญกับภัยธรรมชาติต่อไป

ประเด็นอื่นๆ เกี่ยวกับกฎหมายที่น่าสนใจ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ย.เว็บไซด์รัฐสภา เผยแพร่สถานะของร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ฉบับที่…) พ.ศ. … หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม พ้น 90 วัน โดยพระมหากษัตริย์ทรงยับยั้ง แหล่งข่าวระดับสูงของสภาผู้แทนราษฎรเปิดเผยว่า เรื่องนี้เป็นความผิดพลาดของระบบเว็บไซต์สภาที่อ่านค่าผิด ซึ่งจากการตรวจสอบร่างกฎหมายดังกล่าวจะสิ้นสถานะในวันที่ 28 ก.ย. 2567

“จึงได้ส่งร่างดังกล่าว ให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว หากนายกรัฐมนตรีไม่มีข้อขัดข้องอะไรก็จะนำขึ้นทูลเกล้าต่อไป” ล่าสุดระบบสารสนเทศของเว็บไซด์รัฐสภาได้ขึ้นสถานภาพของร่างกฎหมายดังกล่าว เป็นส่งร่าง พ.ร.บ. ให้คณะรัฐมนตรี ( ครม.) นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย จึงยังไม่ทราบว่า จะต้องนับวันนำขึ้นทูลเกล้าฯ ตั้งแต่เมื่อไร และหากโปรดเกล้าฯ ลงมา ก็ต้องรอ 180 วันเพื่อแก้ไขกฎระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก่อน จึงจะบังคับใช้ได้

สมรสเท่าเทียม จึงยังบอกไม่ได้ว่า จะสามารถเป็นจริงได้ตอนไหน

และการที่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … จำนวน 3 ฉบับ เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ถูกเลื่อนการลงมติเป็นสัปดาห์ถัดไป นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กรุงเทพ พรรคประชาชน ซึ่งประกาศตนเป็นผู้สนับสนุนสุราเสรีมาตลอด ครวญว่า ว่า สุดท้ายฝั่งรัฐบาลก็ตัดสินใจว่า จะไม่รับร่างที่เขาเป็นผู้เสนอ โดยให้เหตุผลว่าจะเป็นการเปิดเสรีจนเป็นอันตรายต่อประชาชน ขอยืนยันว่าในการผลิตสุราด้วยพืชผลทางการเกษตรโดยทั่วไป ไม่มีทางที่เอทานอลจะเกินกว่าที่กรมสรรพสามิตกำหนดไว้ หรืออยู่ในระดับที่เป็นอันตรายได้ เรื่องนี้ไม่ใช่ข้ออ้างจะคว่ำร่างของเขา

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

“เราต่อเรือนี้มาไกล แล้ววันหนึ่งก็เหมือนมีโจรสลัดขึ้นมาทำทีเป็นเพื่อน ก็ถีบเราตกลงไป แล้วบอกว่ายึดเรือ ไม่เชื่อว่าร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติ ( รทสช.) จะเป็นการปลดล็อคการผูกขาด เพราะไม่ระบุว่า ไม่จำกัดกำลังการผลิตขั้นตํ่า ส่วนร่างของพรรคเพื่อไทยแม้จะมีเป้าหมายใหญ่เหมือนกัน แต่ก็หาเหตุข้อเล็กน้อยมาปัดร่างของผมให้ตกไป ผมจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ก่อนการพิจารณาในสัปดาห์หน้า ไปพูดคุยโน้มน้าว ให้เขารับหลักการร่างของผมด้วย”

ภารกิจนายกฯ ที่สำคัญคือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงนามหนังสือแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ สามารถสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย และเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก และผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเลต

คณะกรรมการมีนายกฯ เป็นประธาน และมีองค์ประกอบจากคณะรัฐมนตรี ( ครม.) , ฝ่ายข้าราชการประจำ อำนาจหน้าที่ อาทิ ติดตามและประเมินผลทั้งก่อนและหลังการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อรายงานต่อ ครม. ตลอดจนรวบรวมและจัดทำรายงานผลการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ กำหนดนโยบาย วัตถุประสงค์โครงการ แนวทางการดำเนินโครงการ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ และแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเสนอต่อ ครม.

ส่วนวาระสำคัญทางเศรษฐกิจในวันที่ 20 ก.ย.นี้ ให้จับตาการประชุมบอร์ดค่าจ้าง ซึ่งจะมัดมือชกให้ผ่านค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันให้ได้ ก็ต้องดูผลกระทบที่ตามมาว่าของแพงขึ้นหรือไม่ และ 400 บาทจะให้ทุกจังหวัดหรือไม่

“ทีมข่าวการเมือง”