รัฐบาล “แพทองธาร 1” ไม่มีเวลาฮันนีมูน หลังจากแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 – 12 ก.ย.67   “นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี  ต้องเร่งทำงานทันที โดยเฉพาะ 2  ปมร้อนเร่งด่วน  คือ แก้ปัญหาอุทกภัย และนโยบายเรือธง ที่ไม่ตรงปก อย่าง “ดิจิตัลวอลเล็ต” ที่เปลี่ยนชื่อเป็น“โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ” จำนวน 10,000 บาท  ให้กลุ่มเปราะบาง 14.55 ล้านคน อนุมัติงบประมาณสำหรับการดำเนินโครงการ ในวงเงินไม่เกิน 145,552 ล้านบาท โดยจะเริ่มทยอยจ่ายเงินตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย.67 เป็นต้นไป ทำพิสูจน์ฝีมือ “ลูกสาวนายใหญ่  จันทร์ส่องหล้า”

ซึ่งเป็นช่วงจังหวะเดียวกับการเปิดเกมท้าล้มเดิมพัน ยกระดับศึก “นิติสงคราม” เต็มรูปแบบ ระหว่าง “บ้านจันทร์ส่องหล้า VS บ้านป่ารอยต่อ” ที่แลกกันคนละหมัด โดยใช้ “นักร้อง” ในสังกัดถล่มกันรายวัน ฝ่ายหนึ่งพุ่งเป้าไปที่กล่องดวงใจรัฐบาล “นายกฯอิ๊งค์” ปมจริยธรรมพ่วง คีย์แมนรัฐบาล ยื่นทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  ส่วนอีกฝ่ายพุ่งเป้าถล่ม “ลุงบ้านป่า” จากปฎิบัติการ หนอนบ่อนไส้ ปล่อย “คลิปเสียง” จนนำไปสู่การยื่นเรื่องให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟองเงิน ( ป.ป.ง.) สอบเส้นทางการเงิน และเช็กเวลาเข้าประชุมสภาฯ  ซัดกันนัวแลกกันคนละหมัด  นาทีนี้ไม่มีใครยอมใคร!!

รวมถึงประเด็นสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เตรียมยกร่างแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราเกี่ยวกับประเด็น “จริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต” ที่พรรคเพื่อไทยเป็นเจ้าภาพ  ซึ่งสาเหตุหลักเพราะนายกรัฐมนตรี เคยโดนวินิจฉัยประเด็นความซื่อสัตย์ สุจริตเป็นที่ประจักษ์ จนเป็นเหตุให้ “เศรษฐา ทวีสิน” ต้องตกจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ไปแล้ว และหากไม่รีบชิงแก้ไข ก็อาจเกิดเหตุซ้ำรอยกับ “นายกฯอิ๊งค์

ซึ่ง“พรรคเพื่อไทย”อาจฝันที่เป็นจริง เพราะผ่านสภาฯได้ไม่ยาก หลายพรรคการเมืองน่าจะเอาด้วย โดยเฉพาะ “พรรคประชาชน” ก็โดนหางเลขจากบทบบัญญัตินี้กันถ้วนหน้า สดๆร้อนๆ จากการที่ พรรคก้าวไกล โดนยุบพรรคด้วยเหตุมีพฤติกรรมล้มล้างและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และลามต่อมายัง สส. 44 คนว่า อาจเข้าข่ายละเมิดจริยธรรมขั้นร้ายแรงในมาตรฐานจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ โดยขณะนี้เรื่องอยู่ที่ ป.ป.ช. ยังต้องลุ้นระทึกกันอีกรอบ
หรือแม้แต่ “วุฒิสภา”ก็น่าจะไฟเขียวด้วยไม่ยาก  ถ้า “ครูใหญ่” กดปุ่ม “เห็นด้วย
แต่ความยากเย็นในการแก้ปม “จริยธรรม”ที่เกี่ยวกับนักการเมือง น่าจะอยู่ที่สถานการณ์ทางการเมือง “นอกสภา” มากกว่า เนื่องจากการแก้รัฐธรรมนูญ ในครั้งนี้จะเป็นการแก้เรื่อง คุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงต้องไปทำประชามติก่อน ซึ่งคาดว่าจะมีการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ในช่วงเดียวกับการเลือกตั้ง อบจ. ในต้นปี 68

ซึ่งการทำประชามติใน เรื่อง “คุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” อาจเสี่ยงที่จะไม่ผ่านด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น เรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน  หลายคนอาจไม่เห็นด้วยและมองว่าเป็นการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง  ในขณะที่ปัญหาปากท้องของประชาชน ยังไม่ค่อยจะทำ แต่ดันมาเอาเรื่องการเมืองขึ้นมาก่อน จึงมีสิทธิโดนคว่ำได้ในชั้นประชามติ  

หรือหากถึงขั้นยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แม้แต่ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญก็อาจสุ่มเสี่ยงที่จะไม่ผ่านเช่นกัน เพราะศาลอาจมองว่าเป็นเรื่องประโยชน์ทับซ้อน เป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของผู้แก้รัฐธรรมนูญเอง  และถ้าประชามติโดนคว่ำ “ขบวนนักร้อง” คงแห่ร้องให้ป.ป.ช.ดำเนินคดีอาญา ตามมา

ระวัง! แตะเผือกร้อน ปม “จริยธรรม” จะกลายเป็น “บูมเมอแรง” พุ่งใส่รัฐบาลเอง.