เดลต้าฯ มีความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มต้นดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงที่แนวคิดเรื่องความยั่งยืนยังไม่แพร่หลายในภาคอุตสาหกรรมไทยมากนัก

“ในช่วงเริ่มต้น ต้องบอกว่าตอนนั้นเราคุยกับใครไม่รู้เรื่องเลย เพราะว่าการสื่อสารและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของการลดคาร์บอนต่อภาคธุรกิจในไทย อาจยังไม่เป็นที่สนใจเท่าไหร่ แต่ก็ได้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) เป็นที่ปรึกษา และอาศัยว่าคุยกับต่างประเทศ เพราะที่อเมริกาและยุโรปเขาเริ่มทำกันมานานแล้ว มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้มากกว่า ทำให้เราสามารถวางแผนและดำเนินการลดคาร์บอนได้อย่างเป็นรูปธรรม”

สำหรับการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เดลต้าฯ ได้มีการ กำหนดเป้าหมายกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยวิธี “STB” (Science-based Target) ซึ่งสอดคล้องกับ “ความตกลงปารีส” (Paris Agreement) จากการประชุม COP21, การลดการใช้พลังงานและคาร์บอนฟุตพรินต์ เช่น การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ และการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงาน, การประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ ได้มีการเริ่มดำเนินการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ตั้งแต่ปี 2560 เพื่อให้ทราบถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัท, การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งเป้าหมายที่จะเปลี่ยนรถยนต์ของบริษัททั้งหมดเป็นรถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2573 และใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2573 ควบคู่ไปกับ การมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593

“ถ้าเราไม่ทำตอนนี้ เราจะไม่สามารถส่งออกสินค้าให้กับลูกค้า และรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้ เนื่องจากลูกค้าหลายรายจากทั่วโลกของเราให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ฉะนั้น ถ้าเราไม่ลงมือทำอย่างจริงจังในการดูแลเรื่องกรีน เราก็จะต้องสูญเสียโอกาสในการทำธุรกิจกับลูกค้าเหล่านั้น” สาโรช กล่าวต่อ

ในส่วนของการกำหนดเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทาน เดลต้าฯ ได้ตั้งเป้าให้ Scope 1 และ 2 จะต้องลดให้ได้ถึง 90% ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับฐานปี 2021 และต่อเนื่องไปยัง Scope 3 จะต้องลดให้ได้ 25% ภายในปีเดียวกัน สำหรับ Scope อื่น ๆ ตั้งเป้าจะลดให้ได้ 90% ภายในปี 2574 ซึ่งเป็นเป้าหมาย Net Zero ของบริษัท ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้ารายใหญ่ระดับโลก สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของตลาดที่ให้ความสำคัญกับห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย การให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทานถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ และเดลต้าฯ พร้อมที่จะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้ก้าวสู่ความยั่งยืน ล่าสุดได้ร่วมมือกับบริษัท อินโนพาวเวอร์ เพื่อนำ I-REC ที่ได้รับจากการผลิตไฟฟ้าสะอาดภายในองค์กรไปใช้และแข่งขันในตลาดต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในองค์กรเองแล้ว ได้ถึง 10% และกำลังให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้กับภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ผ่าน “สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว” (PPA) ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ดียิ่งขึ้น

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับนโยบายการเก็บ “ภาษีคาร์บอน” ของภาครัฐในอนาคต เดลต้าฯ จึงได้ดำเนินการเก็บภาษีคาร์บอนภายในองค์กร โดยคิดอัตรา 2 บาทต่อค่าไฟฟ้า 1 บาท เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้ในการลงทุนด้านพลังงานสะอาด เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์ การซื้อ I-REC การประหยัดพลังงาน และการจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (EV) สำหรับใช้ภายในองค์กร ซึ่งถือเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

“การลงทุนด้านพลังงานสะอาดของเรา เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นในการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เราเชื่อมั่นว่าการร่วมมือกับพันธมิตร และการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะช่วยให้เดลต้าฯ สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว” สาโรช กล่าวทิ้งท้าย.