โพชฌังคปริตร เป็นปริตรที่โบราณาจารย์นำเอาโพชฌังคสูตร ทั้ง 3 สูตร คือ 1. มหากัสสปโพชฌังคสูตร 2. มหาโมคคัลลานโพชฌังคสูตร 3. มหาจุนทโพชฌังคสูตร มาประพันธ์เป็นคาถา เรียกว่า โพชฌังคปริตร โดยน้อมเป็นสัจกิริยา เพื่อให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เกิดเป็นความสุขสวัสดี เนื้อหาโพชฌังคสูตรทั้ง 3 นั้น กล่าวถึงหลักธรรมที่ทำให้พระพุทธองค์ตรัสรู้ 7 ประการ คือ 1. สติ ความระลึกได้ 2. ธัมมวิจยะ การเลือกเฟ้นธรรม 3. วิริยะ ความเพียร 4. ปีติ ความอิ่มใจ 5. ปัสสัทธิ ความสงบ 6. สมาธิ ความตั้งใจมั่น 7. อุเบกขา ความวางเฉย

โบราณาจารย์ได้นำเอาโพชฌังคสูตรทั้ง 3 นี้ มาประพันธ์เป็นคาถาสำหรับเจริญภาวนา โดยอ้างเป็นสัจกิริยา เพื่อให้พระปริตรเป็นธรรมโอสถ บังเกิดพุทธานุภาพ ขจัดโรคภัยไข้เจ็บให้อันตรธานหายไป เกิดเป็นความสุขสวัสดี ภายหลังได้เกิดความนิยมว่า เมื่อเจ็บป่วย ไม่สบาย ก็จะสวดโพชฌังคปริตร ซึ่งเป็นทั้งโอสถ เป็นทั้งมนต์ เมื่อมีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเจ็บป่วย เป็นไข้หนัก ก็จะนิมนต์พระสงฆ์มาสวดโพชฌังคปริตรให้ฟัง หรือไม่ลูกหลานก็จะสวดโพชฌังคปริตรให้ฟัง แม้ในงานทำบุญอายุ พระสงฆ์ก็จะสวดพระปริตรบทนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครอง ป้องกัน ไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ และให้มีอายุยืน ผู้ไม่ต้องการเจ็บป่วย และปรารถนาความเป็นผู้มีอายุยืน โดยปราศจากโรคภัยใช้เจ็บ จึงควรเจริญโพชฌังคปริตรตามแบบอย่างพุทธสาวก

บทโพชฌังคปริตร
โพชฌังโค สะติสังขาโต ธัมมานัง วิจะโย ตะถา
วิริยัมปีติปัสสัทธิ โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร
สะมาธุเปกขะโพชฌังคา สัตเตเต สัพพะทัสสินา
มุนินา สัมมะทักขาตา ภาวิตา พะหุลีกะตา
สังวัตตันติ อะภิญญายะ นิพพานายะ จะ โพธิยา
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ
เอกัส๎มิง สะมะเย นาโถ โมคคัลลานัญจะ กัสสะปัง
คิลาเน ทุกขิเต ทิส๎วา โพชฌังเค สัตตะ เทสะยิ
เต จะ ตัง อะภินันทิต๎วา โรคา มุจจิงสุ ตังขะเณ
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ
เอกะทา ธัมมะราชาปิ เคลัญเญนาภิปีฬิโต
จุนทัตเถเรนะ ตัญเญวะ ภะณาเปต๎วานะ สาทะรัง
สัมโมทิต๎วา จะ อาพาธา ตัมหา วุฏฐาสิ ฐานะโส
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ
ปะหีนา เต จะ อาพาธา ติณณันนัมปิ มะเหสินัง
มัคคาหะตะกิเลสา วะปัตตานุปปัตติธัมมะตัง
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ